top of page

"การแปลให้เก่ง" - คู่มือนักแปลหนังสือฉบับใช้งานได้จริง

อัปเดตเมื่อ 26 ม.ค. 2562


วันนี้เราจะมารีวิวหนังสือเล่มนี้กัน



 

รายละเอียดหนังสือ

ชื่อหนังสือ : การแปลให้เก่ง

ผู้แต่ง : ผ่องศรี ลือพร้อมชัย (วัชรวิชญ์)

(ผลงาน: ผิวศิลา หัวใจน้ำหมึก มนตร์น้ำหมึกและมฤตยูน้ำหมึก)

จำนวนหน้า : 240 หน้า

ปีที่ตีพิมพ์ : ตุลาคม 2559


 

แก่นของหนังสือ


การแปลให้เก่ง พยายามจะเปิดโลกการแปลอันกว้างใหญ่ไพศาลให้เห็น ควรเป็นเพียงเล่มแรกๆ ที่นักอยากแปลจะอ่านก่อนสรรหาหนังสือว่าด้วยเรื่องการแปลเล่มอื่นๆ

“การแปลให้เก่ง” เป็นคู่มือนักแปลฉบับใช้งานได้จริง เจาะกลุ่มนักแปลหนังสือและสิ่งพิมพ์จากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทย ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับวงการแปล พร้อมแจกแจงเทคนิคการแปลและยกตัวอย่างบทแปลต่างๆ เพื่อลับคมภาษาผู้อ่าน หนังสือเล่มนี้เหมาะกับนักแปลมือสมัครเล่นและนักแปลมือเก๋าที่อาจลืมไปแล้วว่าการเขียนภาษาไทยให้สละสลวยและ “เป็นไทย” นั้นต้องทำอย่างไร


 

เนื้อหาในเล่ม


หนังสือ “การแปลให้เก่ง” แบ่งออกเป็น 8 บท บทที่ 1-2 เกริ่นนำเรื่องแนวคิดหลักที่เกี่ยวข้องกับการแปล ส่วนบทที่ 3 ถึงบทที่ 5 ว่าด้วย “การทำงานแปล” โดยแบ่งขั้นตอนการทำงานแปลออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ “การเตรียมงาน”(อ่านต้นฉบับ) “การทำงาน” (แปล) และ “การเก็บงาน” (ตรวจและเกลา) บทที่ 6 เป็นบทเสริมความรู้ กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติในวงการหนังสือและสิ่งพิมพ์ ก่อนจะจบท้ายด้วยองค์ประกอบภายนอกอย่างเครื่องมือช่วยแปลในบทที่ 7 และมาตรฐานวิชาชีพในบทที่ 8 สรุปเนื้อหาแต่ละบทได้ดังนี้


บทที่ 1 รู้จักนักแปล

เกริ่นนำแนวคิดหลักในกระบวนการแปล เช่น นักแปลคือใคร ทำหนังสือเพื่ออะไร หน้าที่ของนักแปล ความประพฤติที่นักแปลพึงมี ประเภทของนักแปล สาเหตุที่ต้องแปลหนังสือ การสร้างสมดุลย์ชีวิตจากค่าตอบแทนที่จำกัดของนักแปล และโอกาสทำงานด้านอื่นๆ ของนักแปล


บทที่ 2 รู้เท่าเข้าใจงานแปล

งานแปลคืออะไร ต้องอาศัยความรู้หรือทักษะด้านใดบ้าง ผู้เขียนแจกแจงงานแปลประเภทต่างๆ ในท้องตลาด และแนะแนวทางการเลือกงานของนักแปล นอกจากนี้ยังกล่าวถึงการสมัครงานเพื่อรับงานแปลผ่านช่องทางต่างๆ พร้อมให้คำแนะนำวิธีการทำแบบทดสอบแปลให้ถูกใจสำนักพิมพ์ และแนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นนักแปลทีั่ดี


บทที่ 3 เตรียมงาน

เจาะลึกวิธีอ่านต้นฉบับให้แตกฉานโดยยึดหลัก “หัวใจนักปราชญ์” ของ พระยาอุปกิตศิลปสาร (สุตตะ จิตตะ ปุจฉา และลิขิต) กล่าวคือ บทนี้เสนอวิธีอ่านหนังสือผ่านมุมมองผู้อ่าน 3 ประเภท (นักอ่าน นักแปล และบรรณาธิการ) พร้อมสอนวิธีการตั้งคำถาม 5W1H องค์ประกอบในหนังสือทีต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น คำเรียกหา สรรพนาม การทับศัพท์ การถ่ายเสียง การค้นหาข้อมูลก่อนเริ่มแปล และการกำหนดเวลาการแปล เนื้อหาแต่ละหัวข้อมีตัวอย่างประกอบจากประสบการณ์จริง พร้อมอ้างอิงแหล่งทรัพยากรหรือหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ในบทนี้ยังกล่าวถึงเทคนิคการพิมพ์งานให้ถูกสุขลักษณะ และประหยัดแรงอีกด้วย


บทที่ 4 ทำงาน

รู้จักวิธีการ “แปลให้ตรง” (ตรงความ ตรงอารมณ์ และตรงใจ) ผ่านการอ่านบริบทและมุมมอง (point of view) บทนี้ประกอบไปด้วยแบบฝึกหัดโดยพิสดารให้ผู้อ่านลองแปลตามหลายชุด เช่น การแปลคำโดดที่มีหลายความหมายตามแต่บริบท การแปลคำเรียงสองคำ (วลี) ตลอดจนสำนวน (idiom) การแปลคำเรียกสี การแปลคำอุทานและคำด่า การแปลราชาศัพท์ การแปลศัพท์ศาสนา การแปลบทบรรยาย การแปลลักษณะตัวละคร การแปลกิริยาท่าทาง การแปลบทสนทนา การแปลความรู้สึกนึกคิด การแปลคำพ้อง (pun) การแปลระหว่างบรรทัด แต่ละหัวข้อมาพร้อมกับต้นฉบับและบทแปลที่ผู้เขียนเสนอพร้อมคำอธิบายเหตุผลและทรัพยากรที่ใช้ประกอบการแปล


บทที่ 5 เก็บงาน

แนะแนวทางการตรวจแก้ไว้อย่างละเอียด ตั้งแต่จำนวนครั้งที่ต้องตรวจแก้ ช่วงเวลาตรวจแก้ ประเด็นที่ต้องเฉลียวใจ หลักการเกลาบทแปล ผู้เขียนหยิบยกตัวอย่างบทแปลตลกๆ และลักษณะภาษาไทยให้ผู้อ่านได้ขบคิดพร้อมๆ กัน


บทที่ 6 จรรยาบรรณ ลิขสิทธิ์ และค่าแปล

เข้าใจความหมายของคำว่าจรรณยาบรรณและลิขสิทธิ์ในวงการหนังสือแปล ตลอดจนรายได้ของนักแปลหนังสือ วิธีการเซ็นสัญญากับสำนักพิมพ์แบบต่างๆ และขอบเขตลิขสิทธิ์ของนักแปลและสำนักพิมพ์ ผู้เขียนหยิบยกตัวอย่างข้อพิพาทเรื่องลิขสิทธิ์ในวงการแปลหนังสือนอกจากนี้ยังกล่าวถึงค่าใช้จ่ายด้านลิขสิทธิ์ที่สำนักพิมพ์ต้องแบกรับด้วย อาทิ ค่ารอยัลตี้


บทที่ 7 อุปกรณ์ช่วยแปล

รู้จักพจนานุกรมประเภทต่างๆ ตลอดจนทรัพยากรการแปลอื่นๆ ที่นักแปลพึงมี พร้อมยกตัวอย่างวิธีการใช้งานทรัพยากรประเภทต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทำงานสูงสุด


บทที่ 8 มาตรฐานวิชาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ

แนะนำโครงการมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพธุรกิจหนังสือและสิ่งพิมพ์ โดยอธิบายแนวคิด ความเป็นมา และความจำเป็นในการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพนักแปล


 

รีวิวเนื้อหา


วัชรวิชญ์กล่าวในบทคำตามและคำขอบคุณว่า “การแปลให้เก่ง พยายามจะเปิดโลกการแปลอันกว้างใหญ่ไพศาลให้เห็น” และ “ควรเป็นเพียงเล่มแรกๆ ที่นักอยากแปลจะอ่านก่อนสรรหาหนังสือว่าด้วยเรื่องการแปลเล่มอื่นๆ”

แนวทางการแปลในหนังสือเล่มนี้คือ “การแปลคำให้ได้ความ แปลความให้ได้เรื่อง และแปลเรื่องให้ได้อรรถรส โดยห้ามแปลงและแปร”

หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มืออาชีพเล่มพื้นฐานที่ครอบคลุมและตอบโจทย์นักแปลหรือนักอยากแปลได้เป็นอย่างดี เนื้อหาชูโรงของหนังสือเล่มนี้อยู่ในบทที่ 3 ถึงบทที่ 5 ผู้อ่านจะได้ทดสอบฝีมือการแปลของตนตลอดกระบวนการแปลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ “การเตรียมงาน”(อ่านต้นฉบับ) “การทำงาน” (แปล) และ “การเก็บงาน” (ตรวจและเกลา) พร้อมตรวจคำตอบว่างานแปลของตนดีพอแล้วหรือยัง ผู้เขียนอธิบายกลวิธีการแปลต่างๆ ได้อย่างน่ารัก จริงใจ และเปิดเผยแหล่งอ้างอิงทั้งหมดที่ใช้ในการแปลโดยไม่หวงเนื้อหาใดๆ สิ่งที่ปู๊นชอบเป็นพิเศษเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้คือน้ำเสียงของผู้เขียน เวลาอ่านรู้สึกเหมือนได้ฟังพี่สาวเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังอย่างตรงไปตรงมา แฝงความตลกขบขัน ไม่น่าเบื่อ ชอบความจริงใจของผู้เขียนที่ตีแผ่กลเม็ดการแปลและหนังสือที่ควรอ่านต่างๆ หมดหน้าตัก


จุดบกพร่องของหนังสือเล่มนี้คือ การเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนยังคลุมเครือ เช่น ในบทที่ 1 หัวข้อ “ผลตอบแทนของนักแปล” ครั้งแรกที่อ่าน ปู๊นเองก็คาดหวังว่าจะได้รู้ค่าตัวนักแปลหนังสือ แต่ผู้เขียนกลับกล่าวถึงแนวคิดการสร้างสมดุลย์ชีวิตจากค่าตอบแทนที่จำกัดของนักแปลแทน กว่าจะมารู้ค่าตัวนักแปลอีกทีก็ต้องอ่านถึงบทที่ 6 (ไปอ่านเอาเองนะคะว่าเท่าไหร่ อิๆ) เนื้อหาบางตอนซ้ำกันบ้าง เช่น ตอนต้นของบทที่ 3 หัวข้อ “องค์ประกอบของการแปล” และ บทที่ 4 หัวข้อ “หลักการของนักแปล” พูดถึงขั้นตอนการแปล 4 ขั้นตอนซ้ำแบบเดิม เข้าใจว่าผู้เขียนต้องการพูดซ้ำไปซ้ำมาเพื่อให้ผู้อ่านจำได้ (อย่าถือสานะคะพี่ผ่อง) จุดสำคัญที่อยากติงคือ หนังสือเล่มนี้เน้นผู้อ่านที่เป็นนักแปลและนักอยากแปลหนังสือและสิ่งพิมพ์ นักแปลที่ไม่ได้ทำงานสายนี้อาจจะต้องอ่านหนังสือเล่มอื่นๆ ที่ครอบคลุมงานแปลที่ตนสนใจ


หากสนใจหนังสือเล่มนี้ สามารถซื้อได้ที่ร้านหนังสือ SE-ED ร้าน Kinokuniya ศูนย์หนังสือจุฬาฯ หรือร้านหนังสือใหญ่ทั่วไป สนนราคา 350 บาทเท่านั้นนะคะ

ดู 1,211 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page