top of page

ศึกท้าชิง Smartcat ปะทะ Matecat



Smartcat หรือ Matecat เป็นหนึ่งใน CAT Tools ยอดฮิตที่ใครหลายคนรู้จักอย่างน้อยก็ตัวใดตัวหนึ่ง ถึงจะมีคำว่า "cat" เหมือนกันทั้งคู่ แต่สองโปรแกรมนี้ต่างกันนะจ๊ะ ควรใช้ตัวไหนดี ตามอ่านกันเลยจ้า


 

ข้อมูลโปรแกรม



ชื่อโปรแกรม : Smartcat

รุ่น/ปี : พ.ค. 2022

ผู้ผลิต : Smartcat

ลักษณะการติดตั้ง : ใช้งานผ่านเว็บแบบคลาวด์ (Cloud-based)

ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) :

- Windows หรือ Mac และแท็บเล็ตต่างๆ

- ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตขณะใช้งาน

ทดลองใช้งาน : คลิก (ใช้งานได้ฟรี 30 วัน)

คู่มือใช้งานออนไลน์ : คลิก

 

ชื่อโปรแกรม : Matecat

รุ่น/ปี : ไม่ระบุ

ผู้ผลิต : บริษัท Translated srl (UK), ศูนย์วิจัย FBK, มหาวิทยาลัย Maine และ มหาวิทยาลัย Edinburgh

ลักษณะการติดตั้ง : ใช้งานผ่านเว็บแบบคลาวด์ (Cloud-based)

ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) :

- Windows หรือ Mac และแท็บเล็ตต่างๆ

- รองรับ chrome 75 และ Safari 5.1.7 หรือสูงกว่า ยังไม่รองรับ Browser อื่นอย่างเป็นทางการ

- ต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตขณะใช้งาน

ทดลองใช้งาน : คลิก (ใช้งานได้ฟรี)

คู่มือใช้งานออนไลน์ : คลิก

 


Smartcat เป็นทั้งโปรแกรมช่วยแปล (CAT tool) โปรแกรมบริหารจัดการงานแปล (TMS) และ Marketplace


Smartcat เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ใช้บริการแปลและผู้ให้บริการแปลไว้ด้วยตามคอนเซ็ปต์ "แพลตฟอร์มที่ประมวลผลต้นฉบับและส่งมอบงานแปลเบ็ดเสร็จจุดเดียว" (All-in-one platform connecting translation buyers and suppliers into a streamlined content delivery loop.) ดังนั้นผู้ที่ใช้ Smartcat จึงมีตั้งแต่นักแปล บริษัทแปล และลูกค้าที่รองานแปล ทำให้ Smartcat กลายเป็นโปรแกรมบริหารจัดการโปรเจค/งานแปลต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกว่า Translation Management System (TMS)

เมื่อสร้างบัญชี Smartcat จะถามผู้ใช้ว่าต้องการเปิดบัญชีประเภทใด

Smartcat มีบัญชีให้เลือกทั้งหมด 4 ประเภท ตามกลุ่มผู้ใช้งาน คือ

  1. Organization หมายถึง ผู้ใช้บริการแปล (Buyer)

  2. บริษัทแปล (LSP หรือ Language Service Provider)

  3. นักแปล (Freelancers)

  4. นักเรียน/นักศึกษา (Educator/Student) (ใหม่!) เพื่อทดลองใช้ Smartcat ในฐานะ CAT Tools ก่อนเริ่มงานในอุตสาหกรรมแปลจริง

แต่ละบัญชีจะมีฟีเจอร์ไม่เหมือนกัน ในบทความนี้ปู๊นจะเน้นบัญชีประเภท Freelancer เป็นหลัก เพื่อเทียบฟีเจอร์กับ Matecat ได้ง่ายขึ้น ใครที่อยากรู้ฟีเจอร์ของบัญชีประเภทอื่นๆ ลองเปิดใช้งานดูแล้วมาบอกเล่าเก้าสิบกับหน่อยนะ (อิๆ)



Smartcat รองรับการแปลแบบไร้รอยต่อด้วย Connected Translations


ฟีเจอร์เด่นของ Smartcat คือ "Connected Translation" หรือ วิธีการสื่อสาร ส่งงาน และแปลงานให้ราบรื่น ผ่านระบบ integration ต้นฉบับงานแปลในปัจจุบันมีความเป็นพลวัต (dynamic) เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (เช่น ผู้เขียนแก้ไขต้นฉบับอยู่ แต่อยากให้นักแปลเริ่มแปลงานช่วงต้นไปก่อนเลย) บางครั้งต้นฉบับก็มาจากแพลตฟอร์มอื่น (เช่น เก็บไว้ใน Google Drive หรือต้นฉบับเป็นโปรแกรมที่พัฒนาบนแพลตฟอร์มอื่นและเขียนกันหลายคน) ด้วยเหตุนี้เอง การส่งต้นฉบับไปมาทางอีเมล ทั้งจากลูกค้ามาหานักแปลจึงไม่ค่อยตอบโจทย์ การแปลงานในรูปแบบ connected translation จึงเกิดขึ้น เพื่อให้การส่งงานและการสื่อสารราบรื่น


รูปแบบ Connected Translation ใน Smartcat


  1. แปลงานได้ แม้ต้นฉบับแก้ไขอยู่ เช่น ต้นฉบับอยู่ใน Google Docs หรือ Dropbox นักแปลสามารถดึงต้นฉบับเข้าไปแปลงานใน smartcat ได้เลยแบบเรียลไทม์

  2. ดึงต้นฉบับจากแอปอื่นได้ เช่น YouTube (ไว้แปลซับไตเติ้ล) Figma (ไว้แปล UX/UI) Wordpress (แปลเว็บไซต์) หรือ CRM ต่าง ๆ (เช่น Zendesk) หากมี flow แก้ไขเนื้อหา ต้นฉบับใน Smartcat ก็จะอัปเดตด้วยเช่นกัน

ตัวอย่าง Integration ต่าง ๆ ใน Smartcat ที่เปิดให้ใช้ฟรีไม่จำกัด

ตัวอย่าง Integration ที่รองรับใน Smartcat


มี Smartcat ก็ต้องมี Smartwords


"Smartwords" คือ ฟังก์ชั่นการแปลอัตโนมัติ โดยอาศัยฟันเฟือง 3 อย่าง คือ Machine Translation (MT), Translation Memory (TM) และ Machine Translation Post-Editing (MTPE)


หลักการของ Smartwords คือ จะพิจารณาคำแปลที่ "เจอ" ใน Translation Resources หรือ "ตัวช่วย" ที่กล่าวมาด้านบน (TM, MT และ MTPE) และนำเสนอคำแปลที่ดีที่สุดโดยอาศัย AI หลังบ้านมาช่วยคำนวณ (ไม่ได้เปิดเผยว่าใช้ Engine อะไร) ยกตัวอย่างเช่น เราแปลเอกสารชิ้นหนึ่ง โปรแกรม Smartcat จะเรียกคำแปลที่ได้จากทั้ง MT/TM และจาก MTPE และเสนออันที่ดีที่สุดให้เราตอน Auto-propagate (แปลอัตโนมัติ) ผลลัพธ์ที่ได้คือ นักแปลแปลเร็วขึ้น ได้เห็นงานแปลโดยเครื่องก่อนหนึ่งชั้น แล้วค่อยมานั่งเกลาภาษาอีกทีโดยอาศัย TM/TB ตามปกติ นอกจากนี้เมื่อแก้ไขคำแปล Smartwords จะมีกลไกหลังบ้านเรียนรู้คำแปลไปด้วยในตัว และบันทึกไว้ใน TM ของโปรเจคนั้นๆ


ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. Smartcat รองรับ MT ทั้งหมด 8 เจ้า ครอบคลุมเจ้าใหญ่ 3 เจ้าอย่าง Google Translate, Microsoft Translate และ Amazon Translate


ลิส Machine translation ที่ Smartcat รองรับ

ทุกบัญชีจะมี MT จาก Google ให้ใช้งานฟรี (ไม่ได้ระบุว่าเท่าไหร่) เมื่อใช้หมดแล้วต้องซื้อเพิ่ม ราคาอยู่ที่ 1$/หน้า (1 หน้าเท่ากับ 250 คำ) นอกจากนี้โปรแกรมยังมีฟังก์ชั่น OCR จาก ABBYY ให้ฟรี 25 หน้า ถ้าอยากได้เพิ่มต้องซื้อ ราคาอยู่ที่ 25USD/500หน้า


ราคา MT (เลือกเจ้าได้) และ OCR (ไว้อ่านไฟล์สแกน)

หน้าต่าง Editor's View เรียบง่าย


จับตลาดงานแปลมาไว้ใน Smartcat สะดวกทั้งฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย


จุดเด่นอันหนึ่งของ Smartcat คือการรวม "ตลาดนักแปล" มาไว้ในโฟลว์งานแบบเบ็ดเสร็จ หากเป็นบัญชีประเภทนักแปล (Freelancer) จะมีแท็บ "Translation Jobs" คล้ายๆ ตลาดงานแปล นักแปลสามารถเข้าไป "ตก" งานพร้อมเก็บเงินจากผู้ว่าจ้างโดยตรงได้เลย ทั้งนี้ Smartcat เอาใจนักแปลโดยการผนวกรวมเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยให้นักแปลสร้างใบเรียกเก็บเงินและเก็บเงินโดยตรงจากผู้ว่าจ้างงานได้เลยภายในที่เดียวเบ็ดเสร็จ จะผนวก paypal ก็ทำได้ แต่ฟีเจอร์นี้ไม่ฟรีนะจ๊ะ นักแปลจะถูกเรียกค่าหัวคิว 5% จากค่าจ้าง


หน้าตาแท็บ Translation Jobs ที่นักแปลเข้าไปตกงานได้

หากเป็นบัญชีประเภท Language service Provider เมื่ออัปโหลดงานแล้ว โปรแกรมจะประมวลผลและแปลงานให้อัตโนมัติ (ด้วยฟังก์ชั่น Smartwords) ก่อนนำเสนอรายชื่อนักแปลที่ดูน่าจะตอบโจทย์กับงานนั้นให้ นักแปลเหล่านี้จะทำหน้าที่เกลางานหลังผ่านเครื่องแปลอีกที (Post-edit) หรือบริษัทอาจจะจ้างให้แปลตั้งแต่ศูนย์เลยก็ได้ แน่นอนว่าบริษัทแปลก็โดนค่าหัวคิด 5% เช่นกัน เรียกว่า Smartcat หารายได้โดยตรงจากฟังก์ชั่นนี้นี่เอง


หน้าตาตลาดนักแปลจากบัญชีประเภท Language Service Provider


Smartcat ใช้ได้ทั้งแบบฟรีและเสียตังค์


แบ่งบัญชีออกเป็น 4 ประเภท คือ

  • Forever Free ใช้งาน Smartwords ได้ 20,000 คำ เกินกว่านั้น คือ "ดิ เอนด์" ถ้าอยากใช้ฟังชั่นนี้เพิ่ม ต้องเสียเงินเพิ่ม 4.90 ดอลลาร์/1,000 คำ (ตกคำละประมาณ 0.0049 USD หรือ 0.17 บาท!) นอกจากนี้ยังเปิดดู Project ทีี่เสร็จแล้วได้นานแค่ 45 วัน หลังจากนั้นโปรเจคจะหมดอายุ เปิดไม่ได้อีกเลย

  • Starter เพิ่มปริมาณ Smartwords เป็น 360,000 คำ/ปี ถ้าอยากซื้อเพิ่มจะอยู่ที่ 3.90 ดอลลาร์/1,000 คำ (ประมาณ 0.0039 USD หรือ 0.13 บาท ลดราคาให้หน่อยหนึ่ง ฮ่าๆ) สมาชิกประเภทนี้จะได้ฟังก์ชั่นทุกอย่างแบบ Forever Free เพิ่มเติมคือเปิดดูโปรเจคต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด และเข้าถึง "ตลาดนักแปล" (Marketplace) แบบฟรี ๆ ได้ โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าแปลก่อน

  • Unite ได้ฟังก์ชั่นทุกอย่างแบบ Starter ที่ได้เพิ่มเติมคือทีมงาน Smartcat ดูแลให้ดีราวเทวดา ทั้งจับคู่นักแปลให้เข้ากับงาน หรือการันตีวันส่งงานคืนให้ไม่เกิน 12 วัน พร้อมเพิ่มจำนวน Smartwords เป็น 1.2 ล้านคำ/ปี นอกจากนี้ ยังมีทีมงานเบื้องหลังช่วยสอนวิธีใช้โปรแกรมให้นักแปลใหม่ที่เข้ามาทำงานในสังกัด และไม่คิดค่าหัวคิวกับเจ้าของบัญชีนี้

  • Enterprise เป็นบัญชีที่ตอบโจทย์บริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่อยากเริ่มสร้างระบบจากศูนย์




ข้อดี/ข้อเสีย

  • ถ้ารับค่าหัวคิว 5% ได้ Smartcat ถือเป็นตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักแปล/บริษัทยุคใหม่ ลองคำนวณดูว่ามูลค่างานแปลของคุณครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้หรือไม่ หากเกินจากที่คิดไว้ การใช้แพลตฟอร์มอื่นที่จ่ายแบบ "ครั้งเดียวจบ" อาจจะตอบโจทย์มากกว่า

  • Free Forever ตอบโจทย์คนที่อยากลองใช้ CAT tool ดีๆ สักตัว เพราะจริงๆ แล้ว Smartcat ไม่กั๊กฟีเจอร์เลย เปิดให้ใช้ Integration กี่ตัวก็ได้ มีให้เลือกเพียบ ตั้งแต่แปลเว็บไซต์ (Wordpress) งาน Localization หรืองานแปล CRM (Drupal, Joomla) นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับที่เก็บของได้เพียบๆ (Google Drive, Dropbox, box, onedrive) จะแปลกี่คู่ภาษาก็ได้ มีจำกัดแค่จำนวน Smartwords เท่านั้น (ซึ่งถ้าไม่ใช้ ก็ไม่มีปัญหา)

  • Smartcat เป็นแพลตฟอร์มช่วยแปลแบบคลาวด์ เพราะฉะนั้นหากคุณเดินทางไปไหนมาไหนเยอะ และทำงานแบบ Work from Anywhere การแปลงานด้วย Smartcat ย่อมสะดวกกว่าการแปลงานด้วย Desktop ที่มีโปรแกรมติดตั้งเพียงแค่เครื่องเดียว


 



Matecat เป็นโปรแกรมช่วยแปลกึ่ง Crowd-based translation tool


Matecat เป็นโปรแกรมช่วยแปลแบบ open source เน้นทำตลาดให้ "นักแปล" ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพงานแปลโดยอาศัยเครื่องกลของ CAT tools (เช่น TM, TB และ MT) นอกจากนี้ Matecat ยังมีจุดเด่นที่

ระบบ Crowd-based translation ที่นักแปลสามารถดึงคำแปลจาก TM สาธารณะอย่าง My Memory มาใช้ได้อย่างอิสระ วิสัยทัศน์ของ Matecat คือการเป็นแพลตฟอร์มช่วยแปลที่เปิดให้สาธารณะใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทแปล นักแปล หรือบุคคลทั่วไป


หน้าตาโฮมเพจของ Matecat


ใคร ๆ ก็เป็นนักแปลบน Matecat ได้ด้วย Crowd Translation และ Public TM


นักแปลที่ใช้งาน Matecat และไม่ใช้ TM ส่วนตัว (Private TM) จะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ Crowd translation นั่นคืองานแปลของคุณจะถูกบันทึกและเรียกดูได้จากสาธารณะผ่าน MyMemory ซึ่งเป็น TM หลักที่ Matecat ตั้งค่าไว้


ฟังก์ชั่นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือคุณได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนแปลที่ช่วยเหลือผู้ใช้ใน Matecat ให้แปลงานได้เร็วขึ้น มี Translation Result หรือคำแปลให้เลือกเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือ งานแปลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยสู่สาธารณะโดยปริยาย ดังนั้น หากเป็นงานแปลจริงจัง Matecat เสนอให้นักแปลใช้ TM ส่วนตัว (Private TM) ซึ่งไม่มีใครเข้าถึงได้ นอกจากตัวคุณเอง

If you save your translations in the public TM, they can be viewed as suggestions by all Matecat users. It would represent a human contribution to a public TM and would help other Matecat users during their translation jobs in Matecat.
If you save your translations in the private TM, they will be stored in your private translation memory only and you alone have exclusive use of and access to your contributions to that private TM.

(ที่มา Matecate)



ไม่ต้องมีบัญชีก็แปลงานได้ แต่ถ้าใช้ฟังชั่นขั้นสูงต้องเปิดบัญชี (ฟรี)


เนื่องจาก Matecat ตั้งใจเป็นเครื่องมือที่เปิดกว้างให้ใครใช้ก็ได้ จึงไม่ต้องสร้างบัญชี ใครเข้ามาก็เริ่มแปลงานได้เลย แต่เบื้องหลังความเรียบง่าย ก็มีฟังก์ชั่นไฮโซสอดไส้อยู่เช่นกันนะ ตัวอย่างเช่น

  • Private TM ต้องสร้างบัญชี ถึงจะเรียกดู TM ที่เราเก็บไว้ได้ โดย TM ใน Matecat สร้างง่ายเหมือนโปรแกรม CAT Tools ทั่วไป และระบุด้วยหมายเลข Private TM Key คล้ายกุญแจไขรหัสส่วนตัว

MyMemory คือ TM ที่เปิดให้คนใช้ Matecat ทุกคนเรียกดูได้ ส่วน Private TM เข้าได้เฉพาะคุณเท่านั้น

  • QA (Quality Assurance) คือ ฟังก์ชั่นตรวจเช็คงานแปลขั้นสุดท้ายก่อนส่งงาน เปิดให้ใช้งานได้อิสระแม้ไม่มีบัญชี เครื่องมือที่ Matecat นำมาใช้หลังบ้านก็คือ LexiQA เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยตรวจการสะกดคำ ตัวเลข หรือช่องไฟ (ดูรายการตรวจได้ที่ลิงก์นี้) ข้อมูล ณ วันที่ 22 ส.ค. รองรับภาษาไทยด้วยนะ (เย้)

รายการตรวจ QA ที่อยู่หลังบ้าน Matecat


  • QR (Quality report) คือ รายงานเช็คคุณภาพงานแปล เป็นฟังก์ชั่นที่คนตรวจแก้งานแปลนำมาใช้ให้คะแนนงานแปลตามเกณฑ์ต่าง (เบื้องต้นมี 5 เกณฑ์) เมื่อแก้ไขแล้วโปรแกรมจะนับจำนวนข้อผิดพลาดและขอให้ผู้ตรวจแก้ประเมินความร้ายแรงของข้อผิดพลาดนั้น ผลลัพธ์ที่ได้คือรายงานที่ระบบปริมาณข้อผิดพลาดและความร้ายแรงต่าง ๆ คำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์ ผู้ตรวจแก้อาจนำรายงานนี้ส่งไปให้นักแปลภายหลังเพื่อพัฒนางานแปลต่อไป ฟังก์ชั่นนี้เปิดให้ใช้งานอิสระแม้ไม่มีบัญชี Matecat


  • Machine Translation แม้ Matecat จะเบามาก แต่ก็มี Machine Translation ให้เลือกถึง 11 ตัว แน่นอนว่ารวมกลุ่มเจ้าใหญ่ไว้ทุกตัว เช่น Google Translate, Microsoft Translator Hub หากใครแปลภาษาจีนก็มี Tauyou ไว้ใช้ด้วย ส่วนใครที่สร้าง MT ของตัวเองบน Moses ก็ต่อ API เข้า Matecat ได้เลยเช่นกัน


หน้าตา Editor's view เรียบง่าย ไม่ต้องอ่านคู่มือก็ใช้งานได้เลย


Matecat มี Aligner สร้าง TM ใหม่จากงานแปลเก่าได้เลย


ปี 2022 Matecat ออกฟังก์ชั่นดี ๆ ตัวใหม่ แจกฟรีแก่สาธารณะ นั่นคือ Aligner หรือโปรแกรมสร้าง TM จากการเรียงต้นฉบับและคำแปลไว้ด้วยกัน นักแปลแค่อัปโหลดไฟล์ต้นฉบับและฉบับแปลแล้วรอให้ Matecat จับคู่คำแปลกับต้นฉบับ (align) ก่อนเก็บเข้ากรุคำแปลใหม่ของเราได้เลย (TM)


สกุลไฟล์ที่รองรับในปัจจุบัน (ส.ค. 2022) มีทั้งหมด 78 สกุล เป็นสกุลไฟล์เดียวกับไฟล์ที่รองรับในแพลตฟอร์มแปล แน่นอนว่ารองรับภาษาไทยด้วย แต่ปู๊นยังไม่ได้ลองเลยนะว่าเป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวไว้ลองแล้วจะมาเขียนรีิวิวเทียบกับ Aligner ตัวอื่น ๆ ดูอีกครั้งนะคะ


สกุลไฟล์ที่รองรับใน Matecat และ Aligner ของ Matecat

คุณเป็นนักแปล แต่ถ้าขี้เกียจแปลก็จ้าง Matecat สิจ๊ะ


เสน่ห์น่ารักของ Matecat คือ เมื่อเราอัปโหลดงานแปลปุ๊บ Matecat จะแอบ "หยอด" ผู้ใช้ว่า "สนใจให้เราแปลมั้ยจ๊ะ" ถือเป็นกลไกที่ฉลาดมากสำหรับนักแปลหรือลูกค้าที่ต้องการงานแปลเร่งด่วนและดันมาเจอเพจนี้พอดี ผู้ที่ให้บริการแปลก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากบริษัท Translated srl ที่เป็นผู้พัฒนา Matecat เอง


Matecat เสนอราคาบริการแปลเป็นการ tie-in


ข้อดี/ข้อเสีย

  • Matecat เป็นแพลตฟอร์มเปิดกว้างและมีจุดยืนที่ชัดเจนในฐานะโปรแกรมช่วยแปลที่ใคร ๆ ก็ใช้งานได้ ไม่ต้องเปิดบัญชี แค่คลิกเว็บ หย่อนไฟล์ ก็เริ่มแปลงานได้เลย แถมยังได้เห็นคำแปลของคนอื่น ช่วยให้เราแปลงานเร็วขึ้น ดังนั้น หากคุณต้องการคำแปลเอกสารแบบเร่งด่วน แพลตฟอร์มนี้อาจจะช่วยชีวิตคุณได้มากกว่าการใช้ Google Translate ที่ต้องทยอยแปะทีละย่อหน้าและเห็นคำแปลจาก Google Translate เท่านั้น

  • Matecat เป็นแพลตฟอร์มช่วยแปลที่เหมาะกับคนที่อยากลองใช้ฟังก์ชั่นต่าง ๆ ใน CAT tool เบื้องต้น เช่น TM (ทั้งส่วนตัวและสาธารณะ), TB และ MT เรียกใช้ Translation resources ต่าง ๆ ได้ไม่จำกัด ไม่มีค่าหัวคิวแบบ Smartcat ที่สำคัญคือใช้งานฟรี

  • ถ้าคุณเป็นนักแปลอาชีพ แพลตฟอร์มนี้อาจไม่ตอบโจทย์เพราะคำแปลของคุณจะถูกเปิดเผยสู่สาธารณะผ่าน Public TM ยกเว้นว่าคุณสร้างบัญชีและมี Private TM ส่วนตัว

  • เช่นเดียวกับ Smartcat แพลตฟอร์ม Matecat เป็น CAT tool ระบบคลาวด์ จึงมีความคล่องตัวสูง แปลงานบนแล็บท็อป แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ทุกระบบปฏิบัติการได้ ขอแค่ต่ออินเตอร์เน็ตไว้ตลอดเวลาเท่านั้น

  • แพลตฟอร์มค่อนข้างเบา เหมาะกับงานเบาๆ ถ้าเป็นไฟล์หนัก แปล UX, UI อาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะไม่เห็นบริบทแวดล้อม มี CAT tool อื่น ๆ ที่ทำงานได้ดีกว่านี้ เรื่อง Integration ยังสู้ Smartcat ไม่ได้ เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมที่ไว้ช่วยแปลแบบตรงไปตรงมา เรียบง่าย ติดดิน


 

หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนได้รู้จัก Smartcat และ Matecat เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อยนะคะ บทความต่อไปเป็นเรื่องอะไร ขอเชิญติดตามรับชมต่อไปนะคะ จะขยันเขียนบ่อยๆ เด้อ ขอบคุณที่ติดตามอ่านค่ะ <3

ดู 276 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page