top of page

เจาะลึกแอปพลิเคชัน Thai Food Term พจนานุกรมศัพท์อาหารไทย 7 ภาษา

อัปเดตเมื่อ 27 ม.ค. 2562


เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค ได้เปิดตัวแอปพลิแคชัน Thai Food Terms พจนานุกรมศัพท์อาหารไทย 7 ภาษา ซึ่งรวบรวมคลังคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารไทยไว้กว่า 1,500 รายการ ครอบคลุมหมวดคำศัพท์ต่างๆ 14 หมวด เช่น ชื่ออาหาร ผัก ผลไม้ เครื่องปรุง เครื่องดื่ม และเครื่องใช้ในครัว ถือเป็นครั้งแรกใน ประเทศไทยที่มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับศัพท์อาหารไทยโดยเฉพาะ


ปู๊นได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์สารภี แกสตัน ผู้ประสานงานโครงการพจนานุกรมศัพท์อาหารไทย 7 ภาษาเพื่อเจาะลึกที่มาของแอปพลิเคชัน Thai Food Terms และนำบทสัมภาษณ์มาเผยแพร่ความเป็นมาและแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันThai Food Terms


Thai Food Term เป็นโครงการต่อยอดจากงานวิจัยเมื่อ 10 ปีก่อน


ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2546 ศูนย์การแปลและการล่ามเฉลิมพระเกียรติฯ ได้ดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “ปัญหาการแปลชื่ออาหารไทยเป็นภาษาตะวันตก 6 ภาษา ” งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยของคณะอักษรศาสตร์ “เรื่องกินเรื่องใหญ่ ทั้งไทยและเทศ” ซึ่งทุกภาควิชาต่างพร้อมใจกันทำการวิจัย เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ48 พรรษา ในส่วนของศูนย์การแปลฯ  ได้ศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาการแปลชื่ออาหารไทยเป็นภาษาต่างประเทศ 6 ภาษา ได้แก่ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน  สเปนและโปรตุเกส โดยรวบรวมข้อมูลจากเมนูชื่ออาหารทั้งหมด 120 ชื่อ จากร้านอาหารไทยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ จากตำราอาหารไทย และจากเว็บไซต์ต่างๆ


ปัญหาในการแปลชื่ออาหารไทยปัจจุบันคือ คำแปลลักลั่นและซ้ำซ้อน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออาหารที่ใช้พริกแกงสีแดงซึ่งเรานำไปปรุงเป็นอาหารชนิดต่างๆ เช่น แกงเผ็ด แพนง ฉู่ฉี่ แกงคั่ว หรือแกงป่า แต่เมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่จะแปลคล้ายกันว่า Red Curry

“เครื่องปรุงบางอย่างก็ยังแปลไม่ชัดเจน เช่น ใบโหระพา ใบกะเพรา ใบแมงลัก เราพบว่าบางแห่งมีการแปลด้วยคำเดียวกัน คือ basil ทั้งที่ในสูตรอาหารไทย เราใช้ใบเหล่านี้เป็นเครื่องปรุงในอาหารคนละอย่าง เช่น แกงเลียงจะไม่ใส่ใบโหระพา แต่จะใส่ใบแมงลักเท่านั้น” 


“อาหารประเภทต้มก็มีปัญหาสับสนกับแกง เช่น ต้มยำ ต้มโคล้ง ต้มข่า ต้มส้ม แกงส้ม แกงเลียง คำเหล่านี้มีการแปลที่สับสน เมื่อไหร่ถึงจะเป็นแกงส้ม เมื่อไหร่ถึงจะเป็นต้มส้ม จะแปลอย่างไรจึงจะแยกความแตกต่างของอาหารสองชนิดนี้ได้” 


บรรพบุรุษของเราตั้งชื่ออาหารไทยอย่างเป็นระบบ

จากงานวิจัยเมื่อปี พ.ศ. 2546 อาจารย์สารภีและคณะพบว่าชื่ออาหารไทย จำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม 

  1. ชื่ออาหารที่มีคำบ่งชี้ลักษณะอาหาร (content-focussed) เช่น “ตำ” “ซุป” “ผัด” “แกง” (เช่น ตำไทย ซุปหางวัว ผัดผัก แกงไก่) มีคำบ่งชี้ส่วนประกอบอาหารที่ใช้ (เช่น กระเพราไก่ มี “ใบกระเพรา” และ “ไก่”) มีคำบอกรส (เช่น หมูเปรี้ยวหวาน) หรือคำบอกสีหรือเสียงในการปรุงอาหาร (เช่น แกงเหลือง แกงเขียวหวาน กะทะร้อน ปลาฉู่ฉี่) ชื่ออาหารไทยกว่า 90% จัดอยู่ในกลุ่มนี้

  2. ชื่ออาหารที่ใช้ความเปรียบในการบรรยาย (Form focussed) เช่น ชื่ออาหารที่อ้างอิงตำนาน (เช่น เสือร้องไห้) อาหารที่อิงชื่อตัวละคร (เช่น พระรามลงสรง) หรืออาหารที่ใช้ความเปรียบสื่อความ (เช่น กระทงทอง ฝอยทอง) มีชื่ออาหารไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ 3%

  3. ชื่ออาหารที่มีคำบอกส่วนประกอบอาหารและความเปรียบ (Mixed content and expression) เช่น แสร้งว่ากุ้ง ปูจ๋า ปลาช่อนลุยสวน มีชื่ออาหารไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ 6%

  4. กลุ่มคำยืม เช่น สะเต๊ะ เปาะเปี๊ยะ


การจะแปลชื่ออาหารให้ครบความและครบรส อาศัยกลวิธีการแปลที่หลากหลาย

“ก่อนจะแปลชื่ออาหารไทย เราต้องวิเคราะห์โครงสร้าง องค์ประกอบภายนอก องค์ประกอบภายใน ประเภท บทบาท หน้าที่ ลักษณะเด่น เครื่องปรุง วิธีประกอบอาหาร และตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างระเบียบในการคิดและเลือกกลวิธีการแปล”


ทางคณะผู้วัจัยได้อ้างอิงงานวิจัยเรื่องบทบาทของชื่อเฉพาะของ Christianne Nord  กล่าวคือ มีคำที่สามารถแสดงความแตกต่างจากชื่ออื่น (Distinctive Function) ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอาหารได้ (Informative Function)  มีคำที่ดึงดูดความสนใจ (Attractive function) ไพเราะ (poetic function) และใช้สื่อสารได้จริง (Communicative)

สมมุติฝรั่งเข้าไปสั่งเมนูในร้านอาหารไทย ถ้าเราแปล ‘เสือร้องไห้’ แบบ informative อาจจะสูญเสียเสน่ห์และพลังในการดึงดูด เพราะหน้าที่อย่างหนึ่งของชื่ออาหารคือดึงดูดผู้ฟัง

"ครูได้ไปสัมภาษณ์ปรมาจารย์ด้านอาหารท่านหนึ่งคือ อาจารย์ศรีสมร คงพันธุ์ เพื่อขอคำปรึกษาเรื่องชื่ออาหารที่มีลักษณะเหล่านี้ อาจารย์ท่านได้ให้ความเห็นว่า ชื่อเหล่านี้เป็นสิ่งที่บรรพบุรุษตั้งไว้เพื่อเรียกความสนใจ จึงควรถนอมไว้ หากกลัวว่าการจะเกิดความไม่ชัดเจน ก็ให้เพิ่มคำอธิบายเข้าไปแทน"


“อาหารไทยบางชนิดใช้วิธีถ่ายเสียงในการแปล เนื่องจากเป็นชื่ออาหารยอดนิยมอันดับต้นๆ เช่น ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ชาวต่างชาติรู้จักชื่ออาหารเหล่านี้ดี จึงไม่ต้องอธิบายความอะไรมาก ในอนาคตครูคาดว่าคำว่า ‘สัมตำ’ น่าจะเป็นคำที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและมีโอกาสที่จะแปลด้วยวิธีการถ่ายเสียง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสระที่ใช้ด้วยว่าเข้าปากผู้พูดชาวต่างชาติหรือไม่  อย่างคำว่า ‘ลาบ’ โชคดีมากที่เป็นสระอา ในอนาคตถ้าชื่อติดปาก ฝรั่งอาจเรียกว่า ‘Larb’ ได้ นี่คือเสน่ห์ของอาหารไทย ชื่ออาหารเปรียบเสมือนสิ่งมีชีวิต มีเกิดและตาย มีการเปลี่ยนรูป แม้แต่สูตรในการปรุงของแต่ละร้าน ก็มีความหลากหลายในรูปลักษณ์และรสชาติ และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามยุคสมัย  ซึ่งเราในฐานะนักแปลต้องตามกระแสนิยมของโลกให้ทัน” 


จากโครงการวิจัยกลายเป็นแอปมือถือ

“พอถึงปี 2549 คณะกรรมการฯเห็นชอบให้ขยายโครงการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ออกมาเป็นพจนานุกรมศัพท์เฉพาะทาง จึงได้รวบรวมคำศัพท์และจัดหมวดหมู่ใหม่ จากเพียง 800 กว่าคำ เพิ่มเป็นประมาณ 1600 คำ โดยขยายฐานข้อมูลออกไปเพื่อครอบคลุมหมวดอื่นๆด้วย เช่น เครื่องดื่ม วิธีประกอบอาหาร และศัพท์ทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับอาหาร  นี่ถือเป็นการคิดนอกกรอบ แต่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้ เพราะลำพังชื่ออาหารอย่างเดียว อาจไม่พอที่จะสื่อสาร หรือ แปลตำราอาหารได้หมด  จำเป็นต้องรู้จักกริยาที่ใช้ในการทำอาหารด้วย นอกจากนี้ทางคณะผู้จัดยังได้เพิ่มภาษาตะวันออกไปอีกสองภาษาคือ จีน และ ญี่ปุ่น”


"แรกเริ่มทางคณะกรรมการฯ ตั้งใจตีพิมพ์เป็นพจนานุกรม แต่ใช้งบประมาณสูงมาก วิธีจำหน่ายจำกัด ปรับปรุงข้อมูลลำบาก และไม่อาจเผยแพร่ให้คนทั่วโลกเข้าถึงได้"

เราตัดสินใจทำเป็นแอปพลิเคชัน เพราะเล็งเห็นว่าสามารถปรับปรุงข้อมูลได้ทันท่วงที โดยเนคเทครับเป็นผู้ดำเนินการจัดทำแอปพลิเคชันบนแพลตฟอร์ม IOS และ Android การนำเสนอรูปแบบนี้ยังเปิดโอกาสให้นำไฟล์เสียงและไฟล์ภาพมาเผยแพร่ด้วย ผู้ใช้สามารถรับรู้มโนทัศน์เกี่ยวกับอาหารไทยและวัฒนธรรมไทยได้ชัดเจนกว่ารูปแบบเดิม

“กลุ่มผู้ใช้งานเป้าหมายของเราได้แก่ นักแปล ล่าม เจ้าของร้านอาหาร พ่อค้าแม่ค้าในตลาด และมัคคุเทศน์ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่ตัดสินใจเข้ามาพำนักในประเทศไทยจำนวนมาก หากต้องการสั่งอาหาร หรือซื้อของในตลาด แอปพลิเคชั่นนี้จะเป็นประโยชน์เพราะเรามีทั้งข้อความ เสียง และภาพที่ใช้ในการสื่อสารและทำความเข้าใจ คนไทยใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติได้ขณะเดียวกัน คนต่างชาติก็ใช้สื่อสารกับคนไทยได้ แอปฯนี้จะเป็นเครื่องมือที่สนับสนุนการเผยแพร่คุณค่าอาหารไทยได้ด้วย” 


จุดประสงค์สูงสุดของแอปพลิเคชั่นนี้คือการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารไทยในมิติของ “ครัวไทย ครัวโลก” แต่ละคำที่คัดสรรล้วนมีกลิ่นอายความเป็นไทยแบบที่ผู้เขียนไม่เคยเห็นมาก่อน ยกตัวอย่างเช่นคำว่า กระชุ หรือ กระต่ายขูดมะพร้าว ถือเป็นแอปฯ ที่จุดประกายความสนใจของนิสิต นักศึกษา ในการวิจัยการแปลคำที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และส่งเสริมการสื่อสารข้ามวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี


อนาคตของแอปพลิเคชั่น Thai Food Terms 


"ในอนาคต ถ้าเป็นไปได้ อาจจะเพิ่มชื่ออาหารประเภทอี่นๆ เช่น อาหารจากภาคต่างๆ อาหารมังสวิรัติ เหล่านี้เข้าไป นอกจากนี้อาจจะเพิ่มภาษารัสเซีย หรือภาษาอื่นๆที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากมีความต้องการใช้งาน”


“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีจะพัฒนาไปถึงระดับที่จะช่วยให้การดาวน์โหลดแอปฯบนมือถือทั่วไปมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น สามารถลดขนาด storage ของแอปฯให้เล็กลง เนื่องจากปัจจุบันแอปฯ มีขนาดโดยเฉลี่ยประมาณ 280 mb อาจไม่สะดวกต่อผู้ใช้บางราย”

 

ทุกท่านสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Thai Food Terms  - Free Version  ได้ที่  App Store และ Google Play Store เพื่อทดลองใช้งานด้วยรายการศัพท์ประมาณ 100 คำ  หากท่านสนใจและมีความต้องการจะใช้งานอย่างเต็มรูปแบบ ขอเชิญดาวน์โหลด Full Version ซึ่งมีรายการศัพท์มากกว่า 1500 คำ 


การค้นหาศัพท์จะสามารถค้นได้จากรายการหมวด  รายการคำ จากดัชนี หรือจากภาพก็ได้ค่ะ นอกจากนั้น ผู้ใช้งานชาวต่างประเทศยังสามารถเปลี่ยนภาษาที่ใช้งาน ให้คำศัพท์ต้นทางเป็นภาษาต่างประเทศได้ด้วยค่ะ  ขอเชิญทุกท่านติดตามข่าวสารต่างๆของแอปพลิเคชันนี้ได้ทาง  www.thaifoodterms.com

ดู 262 ครั้ง

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page