top of page

"ถึงคิว MemoQ" Workshop ฟรี! จากมหิดลฯ



เมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ ศูนย์การแปลและ มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดสัมมนาหัวข้อ "ถึงคิว MemoQ" ปู๊นได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรคู่กับคุณปกรณ์ กฤษประจันต์ เพื่อนร่วมอาชีพหน้าคุ้นเคย มีคนมาเข้าร่วมสัมมนาทาง Zoom ประมาณ 70 คน และทาง Facebook Live (เออ...ไม่รู้กี่คนแฮะ)


งานครั้งนี้สนุกดีนะ ใครที่พลาดกิจกรรมนี้ไป มาตามอ่านเนื้อหาในโพสต์นี้หรือชมคลิปย้อนหลังได้ที่เพจคณะศิลปศาสตร์ ศูนย์การแปลและล่าม มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ


 


ขอบคุณภาพจากเพจคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ทำไมต้อง MemoQ


MemoQ ใช้งานง่าย ไม่เหมือน Trados พวก TM และ TB จะกองมาอยู่ในหน้าต่างเดียวกัน ไม่ได้แยกกันวุ่นวายเหมือน Trados

ใครที่มี CAT Tool อยู่คงรู้ว่าโปรแกรมค่ายส้มอย่าง MemoQ ไม่ใช่ตัวเลือกอันดับต้นๆ เท่าไหร่ นักแปลส่วนใหญ่มักลงทุนกับโปรแกรมค่ายเขียวอย่าง Trados หรือค่ายฟ้าอย่าง Memsource, XTM, Wordfast มากกว่า เผลอๆ อาจไปค่ายม่วงอย่าง Smartcat เพราะกระแส Cloud ยังแรงไม่ตกและคิดว่าจะเป็นเทรนด์ต่อไประยะยาว


หลัง Trados ควบกิจการกับ RWS ทำให้ Trados กลายเป็นผู้เล่นหลักครองตลาด เป็นทั้งผู้ให้ "บริการแปล" และ "บริการซอฟต์แวร์" ด้วย แต่ MemoQ เขาเน้นพัฒนาโปรแกรม MemoQ อย่างเดียวเลย - ปกรณ์

จุดเด่นของ MemoQ คือ เป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย "นักแปล" เพื่อ "นักแปล" ไม่ใช้ "โปรแกรมเมอร์" ฟังก์ชั่นต่างๆ ในโปรแกรมจึงออกแบบมาเพื่อรองรับการทำงานของนักแปลโดยแท้ทรู เช่น Livedoc (มหากาพย์ Corpora) หรือ Muse (เดาสิ่งที่จะพิมพ์ต่อได้) หรือค้นข้อมูลบนเว็บไซต์ภายในโปรแกรมได้เลยโดยไม่ต้องเปิดหน้าต่างใหม่


จุดเด่นอีกอย่างของ MemoQ คือใช้ง่ายมาก! เวลาแปลงานรู้สึกสนุกกว่า Trados ทรัพยากรงานแปลอย่าง TM และ TB จะปรากฎในหน้าต่างเดียวกัน ไม่เหมือน Trados นอกจากนี้ยังมีหน้าต่าง Preview ด้านล่างชัดเจน นักแปลเข้าไปแก้คำแปลในหน้าต่างนี้ได้เลย คีย์ลัดต่างๆ ก็จำง่ายกว่า Trados


MemoQ มีหน้าต่าง Preview นักแปลเข้าไปแก้ไขคำแปลโดยตรงได้เลย ด้านขวามือมีหน้าต่าง Translation Results รวบรวม TM, TB และทรัพยากรงานแปลอื่นๆ ไว้ที่เดียวเสร็จสรรพ

MemoQ ไม่รองรับต้นฉบับภาษาไทย


ข้อเสียหลักของ MemoQ คือ ไม่รองรับต้นฉบับ "ภาษาไทย" คนที่แปลจากภาษาไทยเป็นภาษาอื่นๆ คงต้องหันไปใช้ซอฟต์แวร์อื่นแทนก่อนนะ แต่มีข่าวดี! MemoQ แจ้งว่าทีมงานกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์ให้รองรับภาษาไทยอยู่ แต่อาจจะใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ คงต้องรอติดตามข่าวสารกันต่อไป ถ้ามีคนไทยใช้กันเยอะๆ ทีมพัฒนาก็น่าจะอยากพัฒนาฟังก์ชั่นนี้ออกมาเร็วๆ



Workshop เกือบ 2 ชั่วโมง

ขอบคุณภาพจากเพจคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

เราเรียนอะไรกันไปบ้าง

  1. วิธีสร้าง Project

  2. วิธีสร้าง Resources ต่างๆ (เช่น TM และ TB)

  3. วิธีเก็บ/เรียกใช้คำแปลใน TM

  4. วิธีเก็บ/เรียกใช้ศัพท์ใน TB

  5. วิธีสกัดศัพท์

  6. ตั้งค่าศัพท์ให้เป็นคำห้ามใช้ (Forbidden Term)

  7. การตรวจสอบคุณภาพงานแปล หรือ Translation Quality Assessment (TQA)


คลาสนี้สนุกสนานมาก อาจารย์ปกรณ์ช่วยสาธิตวิธีสร้างโปรเจคและอัปโหลดเอกสารพร้อมสาธิตการใช้ฟังก์ชั่นต่างๆ แบบเรียลไทม์ เอกสารที่ใช้ใน Workshop ครั้งนี้เป็น Product Specification ถ่ายไฟฉายยี่ห้อหนึ่ง




วิธีสร้าง Project

MemoQ สร้าง Project ได้ 4 วิธี คือ

สร้างโปรเจคใหม่ ไปที่ New Project เลือก New Project หรือ New Project From Template

  1. หย่อนไฟล์ใหม่ในหน้า dashboard

  2. กด create new project without template หรือ Create project with Template (หากอยากใช้)

  3. ไปที่เมนูบาร์ MemoQ เลือก Create New Project

  4. ใช้คีย์ลัด Ctrl + N


วิธีสร้าง Resources



TM และ TB สร้างได้ด้วยการกดที่ปุ่ม Create/Use new ระหว่างสร้างโปรเจคใหม่ (Create new project) แต่ละโปรเจคจะใช้ TM และ TB กี่ตัวก็ได้ ไม่จำกัด แต่แปลได้แค่คู่ภาษาเดียวและทิศทางเดียว



วิธีเก็บ/เรียกใช้คำแปลใน TM

หน้าต่าง Translation results โชว์ TM, TB และทรัพยากรอื่นๆ

เมื่อแปล Segment ใดเสร็จ ให้กด Ctrl+Enter คำแปลจะถูกเก็บเข้ากรุคำแปลหรือ Translation Memory อัตโนมัติ Segment ไหนถูกเก็บไว้แล้วจะปรากฎในหน้าต่าง Translation Result ด้านขวามือ หากต้องการเรียก TM ไหนมาใช้ ให้กด Ctrl ตามด้วยหมายเลข resources ที่ต้องการใช้ได้เลย จากตัวอย่าง สมมุติอยากใช้ TM หมายเลข 1 ก็ให้กด Ctrl + 1



วิธีเก็บ/เรียกใช้ศัพท์ใน TB

หน้าต่างสร้างศัพท์ใหม่ เก็บใน Termbase (TB)

ให้ไฮไลท์ศัพท์ในต้นฉบับและฉบับแปลแล้วเลือกเก็บได้ 2 วิธี

  1. กดคีย์ลัด Ctrl + E (จะขึ้นหน้าต่างด้านบน) หรือ Ctrl + Q (Quick add term)

  2. คลิกขวา เลือก "Add Term"

หากต้องการใช้ศัพท์ที่เก็บไว้ ให้ใช้วิธีเดียวกับการเรียกใช้ TM คือ กด Ctrl ตามด้วยหมายเลข Resources ที่ต้องการใช้



วิธีสกัดศัพท์



หากต้นฉบับมีขนาดใหญ่ การสกัดศัพท์ (Term extract) จะช่วยควบคุมคำแปลไม่ให้ลักลั่นเพราะมีกลไก "แบน" ศัพท์ที่ต้องการใช้ หากดึงดันจะใช้ MemoQ จะแจ้งเตือน Warning โต๊ะกะใจเล็กน้อย


วิธีสกัดศัพท์ ให้ไปที่แท็บ Preparation เลือก "Extract Terms" MemoQ จะคำนวณว่ามีคำ/วลีใดบ้างที่น่าจะเป็นศัพท์ โดยอ้างอิงจากความถี่ของคำ/วลีดังกล่าว นักแปลสามารถสร้างลิสศัพท์"ว้ล่วงหน้าแล้วเก็บเข้า TB เพื่อใช้งานต่อไป



ตั้งค่าศัพท์เป็นคำห้ามใช้ (Forbidden Term)

ศัพท์หนึ่งศัพท์อาจแปลได้หลายแบบ แต่เราอาจกำหนดให้แปลได้แค่แบบเดียว ใน Workshop ครั้งนี้ อาจารย์ปกรณ์ยกตัวอย่างคำว่า "Chemical System" นักแปลอาจเผลอแปลผิดว่า "ระบบทางเคมี" แทนที่จะเป็น "ส่วนประกอบทางเคมี" เราอาจกำหนดให้ "ระบบทางเคมี" เป็นคำห้ามใช้


วิธีกำหนดศัพท์ห้ามใช้ คือ ให้กดเพิ่มศัพท์ตามปกติ เมื่อหน้าต่าง "create termbase entry ปรากฎ" ให้ไปที่แท็บ Usage และทำเครื่องหมายถูกหน้ากล่อง "Forbidden Term" เป็นอันเรียบร้อย ศัพท์ที่ห้ามใช้จะขึ้นเป็นสีดำในหน้าต่าง Translation Result



ตรวจสอบคุณภาพงานแปลด้วยฟังก์ชั่น Translation Quality Assessment (TQA)

มนุษย์ุย่อมมีข้อผิดพลาด จะดีกว่ามั้ยถ้าให้คอมพิวเตอร์ช่วยตรวจข้อผิดพลาดให้เราอัตโนมัติ สิ่งที่ MemoQ ตรวจได้ คือ

  • ลืมแปล Segment ใดหรือไม่

  • ต้นฉบับเหมือนกัน แต่ฉบับแปลไม่เหมือนกัน (เช่น ต้นฉบับ "Close the folder" ดันแปลว่า "ปิดแฟ้ม" และ "ปิดโฟลเดอร์")

  • ตัวเลขในต้นฉบับและฉบับแปลเหมือนกันหรือไม่ (เช่น ต้นฉบับเป็น "19" แต่ฉบับแปลดันเป็น "16")

  • เก็บ Tag ครบหรือไม่


สรุปคีย์ลัด


Ctrl + Enter คอนเฟิร์ม segment และเก็บคำแปลเข้า TM

Ctrl + E/ Ctrl + Q เก็บศัพท์เข้า TB

Ctrl ใส่ Tag, Placeholder, Resources ต่างๆ

Ctrl + Shift + S คัดลอกต้นฉบับมาฉบับแปล

F7 ตรวจสอบการสะกดคำ


 

ขอขอบคุณคณะศิลปศาสตร์​ มหาวิทยาลัยมหิดลที่จัดกิจกรรมฟรีดีๆ เช่นนี้นะคะ


สำหรับคนที่สนใจเรียนโปรแกรม MemoQ เต็มรูปแบบ คาดว่าจะเปิดอบรมสอนหลักสูตรโปรแกรมช่วยแปลเบื้องต้นให้บุคคลภายนอกครั้งที่ 2 ปีหน้าที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนะคะ รอติดตามข่าวสารทางเฟสบุคศูนย์บริการวิชาการคณะอักษรศาสตร์จุฬาฯ และเพจ prettycat กันอีกที ขอบคุณค่า ^^


ใครอยากรู้ว่าครั้งแรกเป็นยังไง รอก่อนนะ เดี๋ยวจะเขียนรีวิวค่า

ดู 974 ครั้ง
bottom of page