ก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว ยังไม่สายไปถ้าจะพูดถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นในปี 2022 ใช่มั้ย (อิๆ) บทความวันนี้สรุปข้อมูลมาจากรายงาน "Proz Industry Trend Report 2022" ซึ่งน่าสนใจมากและน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนร่วมวิชาชีพ ทั้งที่เป็นนักแปลหรือล่ามทุกคน เราเรียนรู้อะไรจากปี 2022 บ้าง และจะเตรียมรับมือ 2023 อย่างไร
สรุปเนื้อหา
เทรนด์ 1 : จำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นในตลาดและทำงานหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
เทรนด์ 2: ผู้บริโภคเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม
เทรนด์ 3: เทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่น (Automation) ยังเป็นกุญแจสำคัญเพิ่มผลผลิต (productivity) อุตสาหกรรมแปล
เทรนด์ 4: ฟรีแลนซ์มีอำนาจในการควบคุมราคามากขึ้นและเริ่มแสวงหาสมดุลในชีวิต
เทรนด์ 5: MTPE (Machine Translation Post-editing) จะยังคงมีบทบาทต่อไปแม้ได้รับเสียงตอบรับหลากหลาย
เทรนด์ 6: ล่ามทางไกล (RSI: Remote Simultaneous Interpreter) เข้าสู่ยุคเฟื่องฟู
เทรนด์ 7: กำเนิดอาชีพใหม่ "TransInterpreter" ลูกผสมระหว่าง "ล่าม" และ "นักแปล"
เทรนด์ 8: โลกก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่โฟกัสได้ทีละอย่าง (Attention Economy)
หมายเหตุ: รายงาน Proz Industry Trend Report 2022 เปิดให้สมาชิก Proz อ่านเท่านั้น สามารถเผยแพร่ต่อได้ แต่โปรดให้เครดิตกับ Proz ด้วยนะคะ
เทรนด์ 1 : จำนวนฟรีแลนซ์เพิ่มขึ้นในตลาดและทำงานหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
ในช่วง 2020-2022 สถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดปรากฎการณ์ใหม่ในตลาดแรงงานที่เรียกว่า "The Great Resignation" (การลาออกครั้งใหญ่) "The Big Reshuffle" (การรื้อโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่) "The Big Firing" (การไล่พนักงานออกครั้งใหญ่) หรือบางที่ก็เรียกว่า "The Quiet Quitting" (การลาออกเงียบๆ)
ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายบริษัทหันมาปรับโครงสร้างการทำงานให้เป็นแบบไฮบริด (เลือกเข้าออฟฟิศได้บางวัน) บ้างก็ให้พนักงานทำงานจากที่บ้านแบบเต็มตัว (Work from Home) แต่ไม่ว่าจะปรับโครงสร้างแบบไหน ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ เกิด "โอกาส/พื้นที่ทำงานเสริม" พนักงานหลายคนเริ่มหันมาแปลงาน/ทำล่ามเสริมเป็นครั้งคราว บ้างก็หันมาเป็นฟรีแลนส์เต็มตัว เนื่องจากมีความรู้สาขานั้นอยู่แล้ว เช่น กฎหมาย แพทย์ วิศวกรรม
Proz รายงานว่า ปี 2022 มีพนักงาน Full-time ประมาณ 40% ที่ผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์ทั้งแบบ Full-time และแบบ Half-time ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าแรงงานในสหรัฐอเมริกาประมาณ 50% จะลาออกจากงานประจำและกลายเป็นฟรีแลนซ์ภายในปี 2028 (Proz, 2022 หน้า 5)
มองมาที่ภาคธุรกิจ พบว่าปี 2022 มีผู้พัฒนาแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อชีวิตฟรีแลนซ์มากขึ้น เช่น ระบบจัดหางานให้ฟรีแลนซ์ เครื่องมือทำงานแปล/ล่าม กล่าวได้ว่าโควิดเป็นปัจจัย "เร่ง" ให้แรงงานออฟฟิศเคลื่อนตัวสู่ชีวิตฟรีแลนซ์มากขึ้น และเร่งให้ภาคธุรกิจปรับตัวพัฒนาเครื่องมือทำงานให้ฟรีแลนซ์มากขึ้น
ในมุมมองระดับประเทศ รัฐบาลเริ่มตื่นตัวให้ความสำคัญกับแรงงานฟรีแลนซ์ มีการออกระเบียบ วุฒิ กระบวนการตรวจสอบเพื่อลดความเสี่ยงแก่ลูกค้าที่ใช้บริการจากแรงงานฟรีแลนซ์ สถาบันการศึกษาเองเริ่มออกหลักสูตรอบรมทักษะเฉพาะตัวของฟรีแลนซ์ และสนับสนุนแนวคิด "Solopreneurial" (กิจการเจ้าของคนเดียว) ตั้งแต่ชั้นอุดมศึกษา (Proz, 2022 หน้า 6)
เทรนด์ 2: ผู้บริโภคเสพสื่อออนไลน์มากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม
สถานการณ์โควิดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการอย่างเดียว แต่ยังส่งผลต่อผู้บริโภคด้วย ปี 2022 พบว่าผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพข้อมูลเปลี่ยนไป หันมาเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น จากผลการสำรวจของ Proz พบว่า นักแปล 30% ได้รับงานแปลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสื่อวิดีโอ/เสียงออนไลน์ (Streaming content) และการแปลซับไตเติ้ล/การพากย์เสียง (dubbing) ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด (Proz, หน้า 2)
ในช่วงปี 2020-2021 รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ประชาชนออกนอกบ้านไม่ได้ ผู้บริโภคจึงต้องเปลี่ยนวิธีเสพสื่อ จากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์มากขึ้น สื่อออนไลน์ในที่นี้มีตั้งแต่สื่อบันเทิง (เช่น คอนเทนท์สตรีมมิ่ง อย่าง Netflix, Disney+) การเรียนออนไลน์ (เช่น ผ่าน Google Classroom, Zoom) การหาหมอ (Telehealth) หรือแม้แต่การเลือกตั้ง แต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง ความ "New Normal" นี้ก็ไม่ได้หายไปไหน แต่สร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับการเสพสื่อ
ปริมาณคอนเทนท์ออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ประมาณงานแปลเพิ่มขึ้น มีคู่ภาษาที่ต้องการแปลมากขึ้น นักแปลไม่เพียงพอต่อตลาด วงจรการทำงานของนักแปลสั้นลง เพราะผู้ให้บริการต้องเร่งป้อนเนื้อหาให้ทันความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นและต้องการเนื้อหาใหม่เร็วขึ้น เมื่อปริมาณสื่อพัฒนาตามไม่ทัน ผู้ผลิตสื่อ/ให้บริการทางด้านภาษาจึงหันมาเพิ่มความเร็วในการผลิตงานแปลผ่านเทคโนโลยีแปลอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่มขึ้น (ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป)
เทรนด์ 3: เทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่น (Automation) ยังเป็นกุญแจสำคัญเพิ่มผลผลิต (productivity) อุตสาหกรรมแปล
เทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่นช่วยลดภาระงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแปลทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น นักแปล ผู้ให้บริการแปล (เอเจนซี่) และผู้ใช้บริการแปล
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากผลการสำรวจของ Proz พบว่ามีนักแปลที่ใช้โปรแกรมช่วยแปล (CAT Tool) อย่างน้อย 1 โปรแกรม เพิ่มขึ้นจาก 80% (ปี 2019) เป็น 91% (ปี 2022) (Proz หน้า 8) ทั้งนี้ กลุ่มที่ใช้ CAT tool ส่วนใหญ่คือนักแปลที่มีทักษะสูงและแปลเนื้อหาที่มีลักษณะเฉพาะตัว ในขณะที่นักแปลอีก 9% รายงานว่ายังไม่เห็นประโยชน์จากการใช้ CAT tools หรือ CAT tools ยังไม่ตอบโจทย์ประเภทงานแปลที่ตนทำอยู่
ด้าน Machine Translation (MT หรือระบบแปลอัตโนมัติ) พบว่าอัตราการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น "เร็ว" กว่าอัตราการใช้งาน CAT tools ทุกปี สันนิษฐานว่าเป็นเพราะ CAT tools ในปัจจุบันมี MT พ่วงมากับโปรแกรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทำให้อัตราการใช้งาน MT เพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของ Proz พบว่ามีนักแปลที่ไม่ใช้ MT ในการทำงานประมาณ 20% (Proz หน้า 9)
CAT Tools และ MT ทำให้นักแปลแปลงานได้เร็วขึ้นและปริมาณมากขึ้น ผลการสำรวจของ Proz พบว่าจำนวนคำเฉลี่ยที่แปลได้ต่อวัน (Word per day) เพิ่มขึ้นแตะ 3,000 คำต่อวัน (ปี 2022) แทนที่ 2,500 คำต่อวัน (ปี 2012) และนักแปลเกือบ 20% แปลได้มากกว่า 4,000 คำต่อวัน
ผู้ให้บริการทางภาษา (LSP หรือ Language Service Provider) หรือเอเจนซี่ ก็ใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติ (Automation) เช่นกัน โดยส่วนใหญ่แล้วจะมาพร้อมกับโปรแกรม TMS (Translation Management System) ระบบออโตเมชั่นหลักที่มักเห็น ได้แก่
ระบบรับ-ส่งงานให้นักแปลอัตโนมัติ เช่น ส่งอีเมลให้นักแปลหลายคน หลายภาษา พร้อมกัน ตาม Workflow ที่ตั้งค่าไว้ (เช่น "หลังทีมงานอัปโหลดต้นฉบับเข้า Drive แล้ว ให้โปรแกรมส่งอีเมลแจ้งนักแปลว่ามีงานแปลใหม่เข้ามาทันที" หรือ "หลังนักแปลส่งงานแล้ว ให้โปรแกรมส่งอีเมลให้บรรณาธิการตรวจแก้ต่ออัตโนมัติ")
ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง และ AI ช่วยกรองเฉพาะเนื้อหาที่ต้อง "แปลด้วยคน" จริงๆ ลดทอนกระบวนการทำงานและค่าใช้จ่ายของ LSP
ระบบ Auto-Closed Caption หรือระบบถอดเทปเพื่อสร้างซับไตเติ้ลภาษาต้นฉบับอัตโนมัติ ปัจจุบันแม่นยำขึ้นกว่าเดิม ประหยัดเวลาและต้นทุน
ลูกค้า/ผู้รับบริการแปลได้รับผลประโยชน์โดยตรงด้าน "ค่าใช้จ่าย" เนื่องจากจากเทคโนโลยีช่วยลดปริมาณต้นฉบับที่ไม่ต้องแปลด้วยคนจริงๆ และค่าจ้างงานแปลที่อาศัยทักษะต่ำก็ลดน้อยลง (Proz หน้า 15) นอกจากนี้ ลูกค้าบางรายยังอาศัย "ผลวิเคราะห์" (Analytics) จาก AI แมาใช้วางกรอบ/แนวทางการสรรคำแปล เช่น ต้องการให้นักแปลใช้ศัพท์ (Term) ที่มี Hit rate สูงสุดใน Search Engine แทนที่ศัพท์อื่นที่อาจจะเป็น Best Match บ่งชี้ว่า AI มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการตัดสินใจของผู้ใช้บริการ (เช่น ในเชิง Social Listening เป็นต้น)
เทรนด์ 4: ฟรีแลนซ์มีอำนาจในการควบคุมราคามากขึ้นและเริ่มแสวงหาสมดุลในชีวิต
ฟรีแลนซ์เป็นนายตัวเองมากขึ้นและแสวงหา "สมดุล" ในชีวิตมากกว่าเดิม จากผลการสำรวจของ Proz พบว่า "ข้อกังวล" อันดับ 1 สามปีซ้อนของนักแปลฟรีแลนซ์ยังเป็นเรื่อง "หาลูกค้า/หางาน" ในขณะที่ "แรงกดดันค่าแปล" ก็ติดโผ 3 อันดับแรกตลอดกาลเช่นกัน แต่ปี 2022 เรื่อง "ราคา" กลับเป็นเรื่องรอง (อันดับ 3) ประเด็นที่นักแปลกลับให้ความสนใจมากกว่าคือ "การหาสมดุลให้งานกับเรื่องส่วนตัว" (อันดับ 2) (Proz หน้า 11)
การที่ประเด็นเรื่อง "ราคา" ลดความสำคัญไป สื่อเป็นนัยว่านักแปลมีอำนาจในการควบคุมค่าแปลมากขึ้น สามารถรับงานในอัตราที่ตนพอใจมากขึ้น จนการหา "ความสุข" ให้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญกว่าเงิน จากการสำรวจของ Proz พบว่านักแปลกว่า 50% ใช้เวลาทำงานแปลประมาณ 4-8 ชั่วโมงต่อวัน (Proz หน้า 13) โดย 40% คิดว่าตนทำงานหนักกว่าเพื่อนร่วมงาน/คนในครอบครัวที่ทำงานประจำ (Proz หน้า 12) ประกอบกับช่วงปี 2022-2022 เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน ค่าเงินผันผวน ธุรกิจต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์สื่อสารให้ฉับไวและกว้างขวาง นักแปลจึงมีโอกาสตักตวงอำนาจควบคุมอัตราให้บริการมากขึ้น
เทรนด์ 5: MTPE (Machine Translation Post-editing) จะยังคงมีบทบาทต่อไป แม้ได้รับเสียงตอบรับหลากหลาย
Proz แบ่งวิธีใช้งาน MT เพื่อทำ Post-editing ออกเป็น 3 กรณี คือ
นักแปลเป็นผู้ใช้ MT
ลูกค้าหรือคนอื่นที่ไม่ใช่นักแปลเป็นคนเปิดใช้ MT
งาน MTPE ของจริง
กรณีที่ 1: นักแปลเป็นผู้ใช้ MT เอง
"ตอนนี้เริ่มชินกับ MTPE แล้ว เป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มจำนวนคำที่แปลต่อวันได้เป็นอย่างดี" - นักแปล C
หมายถึง นักแปลนำโปรแกรมช่วยแปล (MT) มาใช้แปลงานเอง จากผลการสำรวจของ Proz พบว่านักแปล 80% แปลงานโดยใช้ MT (Machine Translation) ไม่ว่าจะเปิดใช้ MT เต็มรูปแบบหรือเพียงบางส่วน การใช้ MT ลักษณะนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแปลกรณีต้องแปลข้อความ/คำที่ไม่ซับซ้อน (เช่น ชื่อเมือง สกุลเงิน) และช่วยประหยัดเวลานักแปล หลายครั้งสิ่งที่ MT เสนอ อาจทำให้นักแปลได้เห็นคำที่ตนเองก็นึกไม่ถึง แม้จะเป็นคำที่ผิดแต่ก็อาจทำให้นักแปลคิดคำที่ถูกต้องได้ (Proz หน้า 16)
กรณีที่ 2: ลูกค้าหรือคนอื่นที่ไม่ใช่นักแปลเป็นคนเปิดใช้ MT
หมายถึง นักแปลได้เห็นต้นฉบับที่แปลด้วย MT บางส่วน/ทั้งหมดโดยเอเจนซี่หรือลูกค้า การใช้เครื่องแปลต้นฉบับลักษณะนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักแปลมากที่สุด เนื่องจากเกี่ยวข้องกับอัตราค่าแปลที่ลดลง มีทั้งนักแปลที่ไม่รับงาน MTPE เลย นักแปลที่รับ MTPE บางส่วน (หากเป็นหัวข้อที่ตนสนใจ) และนักแปลที่อยู่ในช่วงตัดสินใจว่าจะรับหรือไม่รับดี
"ผมได้รับงาน MTPE จากเอเจนซี่แห่งหนึ่งเพราะเขาต้องการประหยัดต้นทุน แต่กระบวนการ MTPE ยากพอๆ กับแปลใหม่เลย" - นักแปล A
การทำ MTPE เป็นการลดต้นทุนของผู้ให้บริการทางภาษาเนื่องจากเล็งเห็นว่า MT จะช่วยประหยัดเวลาการทำงานให้นักแปล ("ก็แปลไปให้แล้วไง แค่ปรับแก้เอง") ประเด็นคือ MT ที่ใช้ในบางครั้งมีคุณภาพต่ำจนเวลาที่เสียไปกับการ "ปรับแก้" ภาษานั้นมากกว่า "แปลใหม่เอง"
"ลูกค้าขอให้ทำ MTPE ปรากฏว่าพอเห็นงานแปล ลูกค้าโมโห ไม่พอใจ บอกว่าแปลตรงต้นฉบับไป" - นักแปล B
การแข่งขันในอุตสาหกรรมแปลบีบให้ผู้บริการทางภาษาต้องหาทางลดต้นทุนโดยนำ MT มาใช้งาน หลายครั้ง
ส่งผลต่อกระบวนการทำงานที่บิดเบี้ยวไปจากเดิม เช่น (Proz หน้า 18)
นักแปลเข้าใจผิดว่างานแปลนี้มาจาก TM (Translation memory) ไม่ได้มาจาก MT (Machine Translation) จึงไม่กล้าแก้ไขมาก ปรากฏว่าลูกค้าไม่พอใจ มองว่าคำแปลตรงตามต้นฉบับเกินไป
ลูกค้านำงาน MTPE มาเปรียบเทียบกับคำแปลจาก MT อีกทีเพื่อตรวจสอบคุณภาพ (ฺBack translation) สร้างความสับสนและความซับซ้อนในขั้นตอนตรวจแก้และ TQA
ต้นฉบับถูกแปลด้วย MT ให้เป็นภาษาอังกฤษ ก่อนส่งให้นักแปลแปลต่อไปภาษาที่ 3 เกิด Lost in translation เนื่องจากภาษาอังกฤษที่แปลด้วย MT นั้นคุณภาพต่ำ
กรณีที่ 3: งาน MTPE ของจริง
หมายถึง กระบวนการทำงาน MTPE ในอุดมคติ ที่ต้องอาศัยปัจจัย 3 ประการ คือ
นักแปลเข้าใจความต้องการของลูกค้าปลายทาง เช่น ตั้งใจใช้คำแปลฝึก MT อีกที, ขอแค่อ่านพอเข้าใจ หรือนำคำแปลไปใช้เป็นต้นฉบับแปลเป็นภาษาที่ 3 ต่อภายหลัง ฯลฯ
ระบบ MT ที่ใช้ต้องฝึกมาดีพอ รองรับโดเมนงานแปลนั้น ๆ เช่น ฝึกมาให้แปลงานกฎหมาย ก็ไม่ควรเอามาใช้แปลงานการแพทย์
นักแปลมีทักษะความรู้ เรื่อง MT, ที่มาของต้นฉบับ และระดับคุณภาพงานแปลที่ลูกค้าคาดหวัง
งาน MTPE ที่ "ปลอดภัย" ที่สุดและไม่เสี่ยงโดนวิพากษ์วิจารณ์ คือ งานแปลที่ลูกค้าหวังแค่ "ขอให้อ่านเข้าใจ" (Good enough) (Proz หน้า 17) นอกจากนี้ งานที่ MT ยังไม่สามารถแทนที่ได้ คือ งานแปลซับไตเติ้ลเกรดเอที่ซับซ้อน (Top-leveled) และงาน Transcreation (งานแปลเชิงก็อปปี้ไรต์ติ้ง) ทั้งสองอย่างนี้ยังมีค่าบริการสูงอยู่ และน่าจะยังไม่มี AI หรือ MT มาแทนที่ได้เร็วๆ นี้ (Proz หน้า 15)
เทรนด์ 6: ล่ามทางไกล (RSI: Remote Simultaneous Interpreter) เข้าสู่ยุคเฟื่องฟู
ล่ามทางไกล (RSI หรือ Remote Simultaneous interpreting) เป็นรูปแบบการทำงานของล่ามที่เริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่ก่อนปี 2020 (Proz หน้า 23) แต่สถานการณ์โควิด "เร่ง" สร้างความต้องการนี้ให้แก่ตลาด จนทำให้เกิดงานล่ามออนไลน์มากขึ้นอย่างก้าวกระโดด
หลังผ่านโควิดไปเพียง 2 ปี ในปี 2022 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มและธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวกับวิถีชีวิต "New Normal" เทคโนโลยีพัฒนาไปก้าวไกลจนการสื่อสารทางไกล (Remote communication) มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม มีแพลตฟอร์มสื่อสารให้เลือกหลากหลาย ทั้งทางมือถือ คอมพิวเตอร์ หมด "ยุคทอง" ของล่ามที่เดินทางโก้หรูไปตามโรงแรมดีๆ เพื่อทำงานล่ามแล้ว (Proz หน้า 23)
จากมุมมองของผู้ใช้บริการ นอกจากการทำล่ามทางไกลหรือ RSI จะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังเพิ่มความปลอดภัยให้ล่ามในสถานการณ์เสี่ยงต่าง ๆ เช่น ล่ามในเขตสงครามช่วงเจรจารบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือล่ามในโรงพยาบาล ช่วงสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด เมื่อคำนวณค่าเดินทางและค่าโรงแรมที่เพิ่มสูงขึ้น บริการล่าม "ออนไซต์" ไม่สร้างมูลค่าเพิ่มเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับ นอกจากนี้ ผู้ใช้บริการหรือลูกค้าบางรายเล็งเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเสพข้อมูล "ออนไลน์" มากขึ้น การให้ล่ามแปลภาษาทางออนไลน์จึงสอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ และช่วยเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังปลายทางกว่าเดิม (Proz หน้า 23)
ถึงกระนั้น ใช่ว่างานล่ามออนไซต์จะหมดสิ้นไป ยังมีงานประชุมบางประเภทที่ต้องการล่ามทำงานในพื้นที่/ห้องประชุม เพียงแต่ปริมาณงานรูปแบบนี้อาจน้อยลงเนื่องจากลูกค้าต้องการบริการล่ามที่ฉับไวขึ้น สื่อสารได้กว้างไกลขึ้นบนโลกออนไลน์
เทรนด์ 7: กำเนิดอาชีพใหม่ "TransInterpreter" ลูกผสมระหว่าง "ล่าม" และ "นักแปล"
เรามักคุ้นชินว่า "ล่าม" ก็คือ "ล่าม" และ "นักแปล" ก็คือ "นักแปล" แต่ในศตวรรษที่ 21 เส้นบางๆ ที่แบ่งกั้นระหว่างนักแปลและล่ามกำลังจะค่อยๆ มลายหายไป Claudia Brauer นักเขียนคอนเท้นท์และผู้ฝึกสอนล่ามจากสถาบัน BrauerTraining ได้ให้คำนิยาม "TransInterpreter" อาชีพใหม่ที่กำเนิดในปี 2022 ว่าหมายถึง "ล่ามที่ทำอาชีพนักแปลเสริม" หรือ "นักแปลที่ทำอาชีพล่ามเสริม"
A Transinterpreter is a new identity for translators and interpreters in the 21st century. Transinterpreters are translators that are capable of interpreting and interpreters that are qualified in translation. - Claudia Brauer
แม้ล่ามและนักแปลจะทำหน้าที่ "แปล" เหมือนกัน แต่วิธีการสื่อสารนั้นต่างกัน นักแปลสื่อสารผ่านตัวอักษรที่เขียน (ผู้รับสารต้องอ่าน) ส่วนล่ามสื่อสารผ่านคำพูด (ผู้รับสารต้องฟัง) ทั้งสองอาชีพใช้ทักษะทำงานต่างกัน แต่สถานการณ์ตลาดปี 2022 กำลังผลักดันให้เกิดอาชีพ Transinterpreter มากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 30-40% ของนักแปล/ล่ามทั้งหมด (Proz หน้า 24)
"ล่าม" ส่วนใหญ่ที่ผันตัวมารับ "นักแปล" มักเป็นคนที่มีเครื่องมือทำงานพร้อมสรรพอยู่แล้วเพราะล่ามส่วนใหญ่ต้องใช้คอมพิวเตอร์/แล็ปท็อป/โน๊ตแพดทำงาน เมื่อเว้นจากการทำล่าม (โดยเฉพาะล่ามทางไกล) จึงสามารถรับ "งานเสริม" ทำงานแปลไปพลางๆ ระหว่างรองานประชุมใหม่ เป็นช่องทางสร้างรายได้เสริม
ในทางกลับกัน ด้วยปริมาณงานล่ามทางไกลหรือ RSI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ "นักแปล" บางกลุ่มเริ่มหันมาสนใจอาชีพ "ล่าม" และฝึกทักษะใหม่ๆ เพื่อทำงานล่าม ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มรายได้ แต่ยังช่วย "พักสมอง" / "เติมพลังงานใหม่" ขณะเว้นจากงานแปลด้วย
ที่น่าสนใจคือ "นักแปล" มีแนวโน้มที่จะผันตัวมาเป็น "ล่าม" มากกว่าที่ "ล่าม" จะผันตัวมาเป็น "นักแปล" กลายเป็น "ล่าม"
เทรนด์ 8: โลกก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ธุรกิจต้องช่วงชิงความสนใจจากผู้บริโภคเพื่อปิดการขาย (Attention Economy)
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เกิดสิ่งที่เร่ียกว่า "Attention Economy" หรือ "เศรษฐกิจที่ต้องช่วงชิง 'ความสนใจ' ของผู้บริโภคเพื่อปิดการขาย" แต่คำว่า Attention Economy ส่งผลต่อชีวิตนักแปล/ล่ามอย่างไร
ให้ลองจินตนาการว่าทุกวันนี้ถ้าต้องนั่งอ่านเอกสาร คุณมีเวลาอ่านมากแค่ไหน (จะอ่านเอกสาร 10 หน้าหรือเลือกอ่านบทสรุปผู้บริหาร) ถ้าเป็นสื่อวิดีโอ คุณพร้อมจะดูวิดีโอได้นานแค่ไหน (ถ้ายาวเกิน 20 นาที จะดูจนจบหรือไม่ หรือจะดูแค่ 5 นาที เผลอๆ 5 นาทีอาจจะยังไม่จบเลย)
ปัจจุบัน หากต้องการแปลเอกสารสัก 1 ชุด หรือหาล่ามมาแปลงานประชุม 1 คู่ ผู้บริโภค/ลูกค้าแค่เข้า Google ก็เจอนักแปล บริษัทแปล เว็บไซต์ตัวกลางนำเสนอนักแปลและล่ามหลายร้อยตัวเลือกแล้ว สื่อข้อมูลและแหล่ง "ผู้ให้บริการแปล/ล่าม" มีหลากหลายและหาง่ายขึ้น ดังนั้นการ "ขาย" บริการแปล/ล่ามให้สำเร็จ (ทั้งครั้งแรกและครั้งถัดๆ ไป) ไม่ได้ขึ้นกับกำลัง/ความเก่งในการทำงานของเราแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นกับทักษะการขายหรือการโน้มน้าวใจให้ลูกค้า "สนใจ" ใช้บริการจากเราด้วย
ในรายงานฯ Proz เปรียบเทียบกลวิธีการ "ดึงความสนใจ" จากลูกค้าในยุค Attention Economy ไว้น่าสนใจ ถ้าเป็นเมื่อก่อน วิธีเสนอขายยอดนิยมอย่าง Elevator Pitch (โน้มน้าวไอเดียภายในเวลาสั้น ๆ พอๆ กับช่วงขึ้น-ลงลิฟต์) อาจจะใช้ได้ผล นักแปลและล่ามแค่หาจังหวะ "เสนอขาย" (Pitch) เพื่อ "โน้มน้าว" ลูกค้าให้สืบเสาะ/ถามข้อมูลต่อ แต่ปัจจุบัน "ลิฟต์" ทันสมัยขึ้น ไม่ได้จอดแวะชั้นไหน แถมยังขึ้น-ลงไวขึ้น ด้านลูกค้า/เอเจนซี่ผู้ใช้บริการเองก็อาจจะใส่หูฟังหรือไม่ได้สื่อสารด้วยคลื่นความถี่เดียวกับเราด้วยซ้ำ (พูดกันคนละภาษา) สิ่งที่เขาอยากได้ไม่ใช่แค่คำพูดโน้มน้าว แต่ต้องเป็นสื่อที่ "กระตุก" ความสนใจ สรุปใจความด้วยรูปเพียง 1-2 รูปและสวยงามน่าดึงดูด
อัางอิง
รายงาน Proz Industry Report 2022 เข้าถึงได้ทาง https://www.proz.com/industry-report/2022 (ดูได้เฉพาะสมาชิก Proz ที่เสียค่าสมาชิกเท่านั้น)
The site plan and landscaping are integrated into the floor plan to provide residents with easy access to green spaces and recreational areas. The floor plan ensures that parks, gardens, and outdoor amenities are within a short walk, affinity at serangoon floor plan enhancing the outdoor lifestyle of residents. This integration of greenery into the living space reflects the commitment to providing a natural and healthy environment.