top of page

Studio Subtitling ปลั๊กอิน Trados 2019 สำหรับนักแปลซับไตเติ้ล




เมื่ออาทิตย์ก่อน ปู๊นมีโอกาสได้ร่วมสัมมนาทางเว็บที่จัดขึ้นฟรีทุกเดือนของ SDL เลยได้อัปเดตว่าตอนนี้ Trados ปล่อยปลั๊กอินใหม่ที่ชื่อ Studio Subtitling (เรียกกันง่ายๆ อย่างนี้เลย) เป็นปลั๊กอินสำหรับนักแปลซับไตเติ้ลที่ต้องการใช้ฟังก์ชัน TM/TB หรือพวก Machine Translation ใน Trados มาช่วยแปล ที่สำคัญคือฟรีค่ะ! โหลดมาลองเล่นทันทีแบบไม่ต้องคิด หน้าตาเป็นยังไง มายลโฉมกัน



 

ภาพรวม


ชื่อปลั๊กอิน : Studio Subtitling

รุ่น/ปีที่ออก : 2019, May

ผู้ผลิต : บริษัท SDL Trados (เว็บไซต์)

ลักษณะการติดตั้ง : ผ่านตัวติดตั้งปลั๊กอินของ Trados ได้เลย (SDL Plugin Installer)

ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) : ใช้กับ SDL Trados Studio 2019 รุ่น freelance หรีืิอ professional เท่านั้น

สกุลไฟล์วิดีโอที่รองรับ : MPEG, HEVC, VC-1, WMV, DV, Motion JPEG, MP4, 3GPP, AVCHD, ASF, AVI, MKV, DV

ดาวน์โหลดปลั๊กอิน : คลิก (ฟรี!)

คู่มือใช้งานออนไลน์ : คลิก

ดาวน์โหลดไฟล์ซับไตเติ้ลสกุล Webvtt : คลิก

ดาวน์โหลดไฟล์ซับไตเติ้ลสกุล SBV (Youtube) : คลิก

ดาวน์โหลดไฟล์ซับไตเติ้ลสกุล STL (Spluce) : คลิก


 

หน้าตา Trados หลังติดตั้งปลั๊กอิน Studio Subtitling



หลังติดตั้ง plug in ตัวนี้แล้ว โปรแกรม Trados จะมีหน้าต่าง preview ใหม่เด้งขึ้นมาให้เราอัปโหลดวิดีโอ หลังเลือกไฟล์วิดีโอที่เราต้องการแล้ว Trados จะเรียกหน้าต่าง preview ใหม่ขึ้นมา หน้าตาแบบนี้


ด้านซ้ายคือหน้าต่าง Preview วิดีโอที่เราต้องการแปล มาพร้อมตารางแสดงรายละเอียดซับไตเติ้ลทั้งหมดแต่ละบรรทัด เช่น เวลาซับขึ้น (start) เวลาซับออก (end) ระยะเวลาที่ซับปรากฎบนหน้าจอ (duration) จำนวนอักขระในซับนั้น (Chars) จำนวนคำในซับ (Words) จำนวนอักขระต่อวินาที (CPS: Characters per second) จำนวนคำต่อนาที (WPM: Word per minute) และช่องแสดงคำบรรยายฉบับแปล (text)


ซีกขวาที่ปู๊นโชว์คือหน้าต่าง editor เหมือนเวลาเราแปลงานใน Trados แบบปกติ สามารถเรียกดู TM หรือ TB หรือจะ concordance อะไรได้หมด ที่สำคัญคือจะเอา TM หรือ TB อะไรมาใช้ด้วยก็ได้ ไม่ต่างจากไฟล์ประเภทอื่นๆ เลย


ในหน้าต่าง preview เวลากดไปตามซับแต่ละบรรทัด ซับก็จะเปลี่ยนไปตามที่เราเลือก เวลาที่เราพิมพ์ข้อความใหม่ในหน้าต่าง editor เราก็จะเห็นซับที่เราแปลปรากฎขึ้นทันที ถือว่าทำออกมาได้ดีเลย ไม่หน่วง ไม่งอแงอะไรทั้งสิ้น


การตั้งค่าวิดีโอและซับไตเติ้ล

ในหน้าต่าง preview นี้ ด้านล่างจะมีไอคอนฟันเฟืองให้เราตั้งค่าไฟล์ซับไตเติ้ลได้สองส่วน คือ การตั้งค่าวิดีโอ และการตั้งค่าซับไตเติ้ล


มาดูส่วนตั้งค่าวิดีโอก่อน ช่อง Video Path มีไว้เลือกไฟล์วิดีโอใหม่ (กรณีที่เราต้องการเลือกไฟล์ใหม่อ่ะนะ) ด้านล่างจะขึ้นรายละเอียด frame rate ของ VDO ที่เราโหลดขึ้นมาพร้อมค่าสัดส่วนวิดีโอ


บรรทัดต่อมาคือ time-code เราสามารถเลือกอ่านข้อมูล timing (เวลาซับเข้า-ออก) เป็นมิลลิวินาที (millisecond) หรือเฟรม (frame) ก็ได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิดีโอที่เราโลหดด้วยนะ ว่ามันเอื้อให้อ่านข้อมูลเป็นเฟรมเรทมั้ย


ส่วนการตั้งค่าซับไตเติ้ล นักแปลสามารถเลือกตัวอักษรใหม่ เปลี่ยนสี เพิ่มขนาด หรือจะเปลี่ยนสีพื้นหลังซับไตเติ้ลพร้อมเพิ่มเงาก็ยังได้เลย (อารมณ์เหมือนเวลาดูหนังสว่างๆ เราอาจจะอยากปรับพื้นหลังของไฟล์ซับให้มืดหน่อย จะได้อ่านซับง่ายขึ้น)


ตั้งค่าการตรวจสอบคุณภาพงานแปลซับไตเติ้ลโดยเฉพาะ


เมื่อไปที่ Verification Setting จะมีตัวเลือกการตรวจสอบคุณภาพงานใหม่ของปลั๊กอิน Studio Subtitling โดยเฉพาะตามนี้


ปลั๊กอิน Studio Subtitling จะช่วยเช็คคุณภาพซับไตเติ้ล 4 เรื่อง คือ


  • ตรวจสอบจำนวนอักขระต่อวินาที (Check CPS) บางครั้งซับอาจจะมีคำน้อยไป (อ่านซับจบแล้วยังจะค้างอยู่อีก!) หรือคำเยอะไป (เฮ้ยเดี๋ยว อ่านซับไม่ทัน) ตัวเลือกนี้จะช่วยเช็คและแจ้งเตือนเรา โดยเราเลือกได้ว่าอยากให้ studio เตือนเราแบบไหน เป็น error (สีแดง) warning (สีส้ม) หรือเป็นแค่ note (สีฟ้า))

  • ตรวจสอบจำนวนคำต่อนาที (Check WPM) กรณีเดียวกับกับ CPS เลย แต่เปลี่ยนเป็นคำแทน เหมาะกับคนที่ถนัดการนับเป็น word (ปู๊นติ๊กออก)

  • ตรวจสอบจำนวนคำต่อบรรทัด (Check CPL) บางครั้งตัวอักษรบนหน้าจออาจจะอ่านทัน แต่ดูแล้วรกหูรกตามาก (เช่น ยาวจนจะล้นหน้าจออยู่แล้ว) เราเรียกว่ามี CPL เยอะไป โปรแกรม Studio จะช่วยเช็คให้ว่า ความยาวของบทแปลแต่ละบรรทัดอยู่ในกรอบที่เราตั้งค่าไว้หรือเปล่า

  • ตรวจสอบจำนวนบรรทัดต่อหนึ่งซับ (Check LPS) ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะอยู่ที่ 2 บรรทัดต่อซับนะ แต่ถ้าใครอยากจะปรับให้เหลือ 1 (หรือ 3? ฮ่าๆ) ก็ปรับแก้ตรงนี้ได้เลยค่ะ


 

ทดสอบการใช้งานจริง


ไม่มีคีย์ลัดไว้เล่น/หยุดเล่นวิดีโอ

ปู๊นทดลองปลั๊กอินโดยใช้ไฟล์ SRT ของตัวอย่างหนังเรื่อง Captain Marvel มาลองเปิด เป็นไฟล์ที่ทำ spotting/timing (ใส่เวลาซับเข้า-ออก) เรียบร้อยแล้ว ตอนเริ่มแปลก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก ติดอยู่ที่เวลาแปลแล้วดูคลิปไปด้วยต้องมากด play วิดีโอโดยใช้เม้าส์ ถ้าเทียบกับโปรแกรม Aegisub แล้ว สามารถกดคีย์ลัดเพื่อเล่น/หยุดคลิปได้เลย ควรจะติดตั้งคีย์ลัดให้นักแปล จะสะดวกมาก (จากที่ประชุม เห็นว่าทาง Trados จะใส่เพิ่มเข้าไปนะ)

รักษารูปแบบตัวอักษร (Formattig) และตำแหน่งซับไตเติ้ลต้นฉบับ แต่ปรับแก้ตำแหน่งไม่ได้นะ

ปลั๊กอินนี้รองรับรูปแบบตัวอักษรและตำแหน่งซับไตเติ้ลทุกแบบตามที่ต้นฉบับมี เช่น ตัวหนา ตัวเอียง ซับขึ้นซ้าย ขวา บน ตรงกลาง แต่ระหว่างแปลใน Trados ถ้าเราเกิดอยากเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นมา เราจะทำอะไรไม่ได้เลย ต้องไปแก้ไขที่ไฟล์ต้นฉบับ และกดอัปเดตไฟล์ต้นฉบับใหม่เท่านั้น (Quick update file) ส่วนเรื่อง format เราแก้ไขได้ เพราะ Trados จะมองว่าเป็น Tag


ผนวกซับไตเติ้ลสองอันได้ แต่เวลาไม่เปลี่ยนตาม

เราสามารถรวบซับไตเติ้ลสองอันให้อยู่ในซับไตเติ้ลเดียวกันได้โดยคลิกที่ Segment ที่ต้องการรวบทั้งสองอัน คลิกขวาแล้วเลือก “Merge segment” แต่ประเด็นคืออะไรรู้มั้ย เวลามันไม่ขยับรวบไปด้วยกันนี่สิ! ตลกมาก!

ในที่ประชุม Trados แจ้งว่าปลั๊กอินนี้ เน้นที่กระบวนการ TEP คือ แปล (Translation) แก้ไข (editing) และพิสูจน์อักษร (proofreading) ไม่ได้คิดว่านักแปลต้องรู้เรื่อง timing (คุณพระช่วย นี่มันนักแปลยุค 4.0 นะคะ) คาดว่าในอนาคต จะออก patch ใหม่ออกมาให้แก้ไข timing ได้


เพิ่มซับไตเติ้ลใหม่ไม่ได้

กรณีเดียวกันกับการแก้ไขเวลาเลย ถ้าต้องการเพิ่มซับไตเติ้ลใหม่ จะต้องไปแก้ที่ไฟล์ต้นฉบับ แล้วอัปโหลดใหม่ จึงจะแก้ไขได้ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะ Trados ใช้ subtitle แต่ละหน่วย เป็นตัวแบ่ง segment ถ้าจะไปเพิ่ม/แก้ไขซับไตเติ้ลใหม่ เท่ากับเรากำลังทำลายกลไกการเตรียมไฟล์ใน trados และโปรแกรมจะสร้างซับไตเติ้ลฉบับแปลไม่ได้ (อารมณ์ว่ามันจะไปขัด Algorithm ภายในโปรแกรมอ่ะ)


ขึ้นบรรทัดใหม่ในซับเดียวกันได้

ซับที่มีผู้พูดสองคน (เช่นประโยคถาม-ตอบ) หรือซับที่มีข้อความยาวเกินไป สามารถตัดประโยคขึ้นบรรทัดใหม่ได้ โดยกด Shift+Enter ตามปกติ แต่แปลกตรงที่เวลาเป็นบทสนทนาพูดพร้อมกันสองคน Trados จะแยกออกเป็นคนละ Segment เลย ยกตัวอย่างเช่น ในหน้าต่าง Editor จะเห็นว่า Trados เลือกแบ่งบทสนทนาถาม-ตอบ ออกเป็นคนละ segment เลย แต่พอดูใน Preview มันเป็น segment เดียวกันนะเธอ~ (ทำไมเป็นอย่างนี้หนอ) ปู๊นต้องจับประโยคที่สองขึ้นบรรทัดใหม่เอง ถึงจะเห็นในหน้าต่าง Preview แบบนี้นะ ถ้าไม่ตัดประโยคใหม่ จะขึ้นแค่ซับแรกอันเดียวนะเออ!



ในหน้าต่าง Editing จะเห็นซับถาม-ตอบอยู่คนละ Segment

ในหน้าต่าง Preview จะเห็นซับถาม-ตอบอยู่ใน Segment เดียวกัน

รองรับเฟรมเรทและวิดีโอทุกรูปแบบ

Trados แจ้งว่าปลั๊กอินนี้รองรับเฟรมเรทและวิดีโอทุกรูปแบบ คร่าวๆ คือ MPEG, HEVC, VC-1, WMV, DV, Motion JPEG, MP4, 3GPP, AVCHD, ASF, AVI, MKV, DV ปู๊นยังไม่ได้ทดสอบจริงทั้งหมด (ทดสอบแต่ MP4) แต่คิดว่า Trados คงไม่โกหก เพราะตัว Studio เองก็รองรับไฟล์ได้เยอะมากอยู่แล้ว แค่นี้จิ๊บๆ !


รองรับโปรเจคหลายภาษา (Multi-lingual project)

สมมุติว่าต้องแปลไฟล์วิดีโอเดียวกันออกเป็นสามภาษา ก็นำปลั๊กอินนี้มาใช้กับทั้งสามภาษาได้เลย ไม่ต่างกันกับการแปลไฟล์ประเภทอื่นๆ ติดอยู่เรื่องหนึ่งคือเรื่องการแสดงผลซับไตเติ้ลภาษาต่างๆ พร้อมกัน (เช่น ในประเทศเบลเยี่ยม มักขึ้นซับไตเติ้ลเป็นภาษาฝรั่งเศสและภาษาเฟลมมิชพร้อมกัน) จะไม่สามารถแสดงผลพร้อมกันได้นะจ๊ะ


ตรวจเช็คคุณภาพสซับไตเติ้ลได้แม้ไม่ได้อัปโหลดวิดีโอ

อันนี้เก๋ กรณีที่เราต้องแปลไฟล์ซับไตเติ้ลที่วิดีโอยังไม่เสร็จ ปลั๊กอินตัวนี้จะยังคงเช็ค CPS/CPL และตัวเลือกอื่นๆ ตาม ที่เราตั้งค่าใน Verficiation setting ไว้นะ พูดง่ายๆ คือ อย่าหยุดฉัน แม้วิดีโอจะไม่มีจ้า


ไฟล์เสียงมาจากวิดีโอ จะอัปไฟล์เสียงอื่นมาเล่นไม่ได้นะจ๊ะ

นักแปลที่ต้องการฟังไฟล์เสียงอื่นๆ ที่ไม่ได้มากับไฟล์วิดีโอคงต้องเสียใจนิดหนึ่ง เพราะปลั๊กอินตัวนี้จะเรียกไฟล์เสียงจากไฟล์วิดีโอได้อย่างเดียว

เพิ่มไฟล์สกุลใหม่ไว้ใช้งานอีกสามไฟล์



แน่นอนว่าปล่อยของใหม่มา ก็ต้องเพิ่มประเภทไฟล์ใหม่ให้รองรับกว้างขวางขึ้นด้วย SDL เลยปล่อยไฟล์เพิ่มอีกสามประเภทคือ WebVTT (.vtt), Youtube (.SBV), Spluce subtitle (.Stl) นอกจากนี้ไฟล์พื้นฐานอย่าง Subrip (SRT) ก็ใช้ปลั๊กอินนี้ได้เหมือนกัน ใครยังไม่ได้เพิ่มไฟล์ประเภทใหม่เข้าใน Trados ดาวน์โหลดได้ด้านบนนะจ๊ะ


 

ปลั๊กอินนี้เหมาะกับใคร

  • คนที่ต้องแปลซับไตเติ้ลที่มีเนื้อหาซ้ำกันเยอะ เช่น สารคดี บทสัมภาษณ์บริษัท หรือคู่มือสอนการใช้งาน เพราะสามารถใช้ประโยชน์จาก TM/TB ได้คุ้มค่ากว่าการแปลภาพยนตร์หรือไฟล์ AVT ประเภทอื่นที่มีเนื้อหาซ้ำกันน้อยกว่า ถ้ายิ่งเราแปลเอกสารประเภทอื่นๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน แล้วเก็บไว้ใน TM/TB อยู่แล้ว ยิ่งเป็นประโยชน์ใหญ่เลย

  • คนที่ต้องการแปล แก้ไข และพิสูจน์ซับไตเติ้ลโดยไม่แก้ไขข้อมูลเชิงเทคนิคใดๆ (เช่น เวลา และตำแหน่งซับ) ปลั๊กอินนี้จะช่วยให้แปลสะดวกขึ้นเยอะกว่า word หรือ Excel แน่นอน เพราะเราเห็นซับไตเติ้ลปรากฎบนหน้าจอเลย สามารถเช็คได้ว่าซับนี้ขึ้นช้าไปมั้ย หรือหน่วงไป เราค่อยใส่ความคิดเห็นแล้วแจ้งผู้ว่าจ้างกลับก็ได้

ข้อจำกัด

  • ใช้กับ Trados Studio 2019 เท่านั้น (ใครใช้ 2018 หรือ 2017 กินแห้วนะ ฮือ)

  • แก้ไขเวลาซับไตเติ้ลขึ้น-ออกไม่ได้เลย แม้จะมีฟีเจอร์ให้รวบซับไตเติ้ลได้ แต่จะปรับเวลาซับไตเติ้ลใหม่ไม่ได้ ในอนาคตคาดการณ์ว่าจะปรับปรุงฟีเจอร์นี้

  • แก้ไขตำแหน่งซับไตเติ้ลไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตำแหน่งต้นฉบับ แต่แก้ไขสี format และขนาดซับไตเติ้ลได้

  • สร้างซับไตเติ้ลที่ขึ้นสองภาษาพร้อมกันไม่ได้ (Bilingual Subtitle)

  • ในตารางด้านล่างวิดีโอ ไม่มีข้อมูล CPL อ่ะ ปู๊นว่าสำคัญนะ โดยเฉพาะภาษาไทยซึ่งมี CPL ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว

สรุปทิ้งท้าย/ความเห็น

  • ปลั๊กอินนี้ยังไม่เหมาะกับนักแปลมืออาชีพ แต่เหมาะกับนักแปลที่ต้องการแปล/แก้ไข/พิสูจน์อักษร โดยไม่แตะเรื่องเทคนิคเลย นักแปลที่ต้องการใช้ประโยชน์จาก TM/TB ปลั๊กอินนี้จะตอบโจทย์คุณมากค่ะ! ส่วนเรื่องการใช้งาน Verification พวกการเตือน CPL/CPS ต่างๆ (เช่น ซับขึ้นเร็วไป/ช้าไปแล้วจ้า) ปู๊นว่ายังเห็นไม่ชัดนะ (เทียบกับ Aegisub) ทำเป็นสีๆ ไปเลยจะเห็นชัดกว่าเยอะ

  • ประเด็นที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนคือเรื่อง timing ทาง Trados ควรปล่อยให้นักแปลแก้ไขเวลาซับเข้า-ออกได้ เพราะตามธรรมชาติของการแปลซับไตเติ้ล ไวยากรณ์และการเรียงประโยคของต้นฉบับ และฉบับแปลอาจไม่เหมือนกัน นักแปลมีหน้าที่ต้องผนวกหรือแบ่งซับไตเติ้ลใหม่ให้เหมาะสมตามภาษาปลายทางนั้นๆ

  • ครั้งนี้ทาง Trados ออก TQA settings ใหม่มาตรวจเช็คคุณภาพซับไตเติ้ลด้วยนะ โดยยึดตามหลักการ FAR Methodology (มันไกลเหลือเกินสินะ) จะมารีวิวอีกทีจ้า

ดู 2,282 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
bottom of page