top of page

ก้าวแรกกับมาตรฐานวิชาชีพล่ามในประเทศไทย

อัปเดตเมื่อ 28 ธ.ค. 2563



เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยหรือ TIAT ได้จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างมาตรฐานวิชาชีพล่ามเป็นครั้งแรกที่หอประชุมใหญ่ หอสมุดแห่งชาติ มาดูกันว่าร่างมาตรฐานนี้มีรายละเอียดอย่างไรและจะส่งผลต่อวิชาชีพล่ามอย่างไรบ้าง


สำหรับคนที่พลาด ติดตามชมย้อนหลังเต็มๆ ได้ที่นี่จ้า


ปัจจุบันล่ามในประเทศไทยจำนวนมากประกอบอาชีพโดยยังไม่มีมาตรฐานวิชาชีพมารองรับ เอกสารชิ้นนี้จึงจัดทำขึ้นเพื่อเสนอแนวทางในการจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติวิชาชีพล่าม

ร่างมาตรฐานฉบับแรกในประเทศไทยจาก "ล่าม" เพื่อ "ล่าม" และ "ผู้ใช้บริการล่าม"


ร่างมาตรฐานนี้เกิดจากไอเดียคิดเล่นๆ (แต่จริงจัง) ของล่ามอาชีพทั้งหมด 7 คน คณะทำงานนี้เล็งเห็นปัญหาที่ล่ามในปัจจุบันต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง คุณภาพการทำงาน สภาพแวดล้อม เราอยากเห็นมาตรฐานการปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่อยู่ในวิชาชีพล่ามทุกฝ่าย ได้แก่ ล่าม ผู้จัดหาล่าม (เอเจนท์/รีครูทเตอร์) ผู้ให้บริการอุปกรณ์ล่าม (บริษัทเช่าตู้ล่าม/หูฟัง) ผู้ใช้บริการล่าม (ออร์แกไนเซอร์/ลูกค้า) และหน่วยงานภาครัฐ



การระดมความคิดล่าม ผู้ใช้ล่าม และผู้ให้บริการล่ามครั้งแรก


การประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องกับล่ามทั้งหมด ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เป็นล่าม (47.4%) นักศึกษา/ล่ามฝึกหัด (19.1%) ออร์แกไนเซอร์/ลูกค้า (6%) ผู้ให้บริการอุปกรณ์ล่าม (4.8%) เอเจนท์/ผู้จัดหาล่าม (4.8%) องค์กรภาครัฐ (1.2%) อื่นๆ (16.7%) มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 84 คน


จากข้อมูลผู้เข้าร่วมประชุม จะเห็นว่าปัจจุบัน "ล่าม" อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่แปลภาษาเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นทั้งออร์แกไนเซอร์ ผู้จัดหาล่าม หรือผู้จัดหาอุปกรณ์ล่ามด้วยในคราวเดียวกัน



ล่ามและผู้ใช้ล่ามกังวลเรื่อง "คุณภาพงานล่าม" และ "การจ้างงานที่เป็นธรรม" เป็นอันดับแรก



ก่อนประชุม คณะทำงานฯ ได้จัดทำผลสำรวจปัญหาที่พบในการประกอบอาชีพของผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมด พบว่ามีปัญหาทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ

  1. คุณภาพล่าม เช่น การใช้คำไม่เหมาะสม การบิดเบือนเนื้อหา การใช้คำศัพท์ที่ไม่สอดคล้องกับบริบท ความเข้าใจภาษาถิ่น

  2. การจ้างงานไม่เป็นธรรม เช่น อัตราค่าจ้าง การจ้างล่ามเกินจำนวนชั่วโมง การโดนกดราคาผ่านเอเจนท์

  3. สภาพแวดล้อม/ปัจจัยภายนอก เช่น เสียงวิทยากร ความสามารถของคู่ล่าม ปัญหาทางเทคนิค ความพร้อมของเอกสารประกอบการทำงาน

  4. ความมั่นคงในอาชีพ เช่น ขาดมาตรฐาน/เกณฑ์รองรับ ขาดระบบขึ้นทะเบียนล่าม ขาดระเบียนล่าม

  5. การพัฒนาวิชาชีพ เช่น การจัดอบรมมีจำกัด ขาดการสร้างเครือข่ายให้แก่ล่ามมือใหม่


จากผลการสำรวจ พบว่าล่ามพิจารณาเรื่อง "คุณภาพงานล่าม" เป็นประเด็นสำคัญอันดับแรก (32.5%) อันดับสองคือ "การจ้างงานที่เป็นธรรม" (30%) และอันดับสามคือ "สภาพแวดล้อม/ปัจจัยภายนอก" (12.5%) ถ้ามาดูฝั่งออแกไนเซอร์/ลูกค้าและหน่วยงานภาครัฐ จะเห็นว่ากังวลเรื่อง "คุณภาพล่าม" กันหมดทุกคนเลย (100%) ผู้ให้อุปกรณ์ล่ามเองครึ่งหนึ่ง (50%) ก็คิดเช่นนั้น ด้านเอเจนท์/ผู้จัดหาล่ามกังกังวลเรื่อง "คุณภาพล่าม" "ความมั่นคงในอาชีพ" "การจ้างงานที่เป็นธรรม" ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ส่วนนักศึกษาหรือล่ามมือใหม่แม้จะให้ความสำคัญเรื่อง "คุณภาพล่าม" เป็นอันดับหนึ่ง (50%) แต่ก็ให้ความสำคัญเรื่อง "การจ้างงานที่เป็นธรรม" เป็นอันดับสอง ตามมาด้วย "ความมั่นคงในอาชีพ" และ "การพัฒนาวิชาชีพ" รองลงมาเท่าๆ กัน


โดยสรุปทุกกลุ่มลงความเห็นว่า "คุณภาพล่าม" เป็นปัญหา/ข้อกังวลที่ให้ความสำคัญอันดับหนึ่ง



ร่างมาตรฐานที่เกิดจาก 3 เสาหลัก: สมรรถนะในการปฏิบัติงาน มาตรฐานการปฏิบัติงาน ภาระรับผิดชอบทางกฎหมาย


ร่างมาตรฐานมีเสาหลักอยู่ 3 ด้านคือ

  1. สมรรถนะในการปฏิบัติงาน (Performance Band) ว่าด้วยสมรรถนะของล่ามวิชาชีพแต่ละระดับ โดยอ้างอิงจากระดับสมรรถนะล่ามของ NAATI เบื้องต้นแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ "รู้ภาษาแต่ล่ามไม่ได้" "ล่ามได้บ้างไม่ได้บ้าง" "ล่ามได้ดีแต่มีที่ล่ามไม่ได้บ้าง" "ล่ามได้ดีอย่างสม่ำเสมอ" และ "ล่ามได้ดีอย่างสม่ำเสมอและมีชั้นเชิง"

  2. มาตรฐานในการปฏิบัติงาน ว่าด้วยการปฏิบัติงานของล่ามประเภทต่างๆ เพื่อให้ได้มาตรฐาน เช่น ล่ามแต่ละประเภทจะต้องผ่านสมรรถนะระดับใดบ้าง (Band อะไรถึงทำล่ามประเภทไหนได้) เสาหลักนี้ยังวางกรอบมาตรฐานการทำงานของล่ามแต่ละประเภทด้วย เช่น ต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะด้าน (กรณีเป็นล่ามในโรงงาน/แท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีความเสี่ยง) ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเฉพาะทางหรือผ่านการอบรมทักษะเฉพาะด้าน (กรณีเป็นล่ามทางการแพทย์ ล่ามวิศวกร หรือล่ามศาล) นอกจากนี้ยังครอบคลุมเรื่องมาตรฐานการให้บริการของล่าม (เช่น ชั่วโมงการทำงาน รูปแบบการทำงาน เช็คลิสของล่าม) อีกด้วย

  3. ภาระรับผิดทางกฎหมาย ว่าด้วยขอบเขตการรับผิดและภาระผูกพันทางกฎหมายจากการให้บริการล่าม ช่วยวางกรอบมาตรฐานคุ้มครองล่าม ผู้ว่าจ้าง และผู้รับบริการล่ามจากการรับผิด



ฐานข้อมูลล่ามเพื่อส่งเรื่องร้องเรียนและควบคุมคุณภาพ

ระบบนี้อาจจะไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแต่เป็นก้าวแรกในการเรียนรู้
เกิดไฟดับขึ้นมากลางงาน เขาจะโทษว่าล่ามปิดไมค์หรือบอกว่าฝ่ายเทคนิคผิด ข้อมูลนี้จะช่วยจำกัดความรับผิดของล่ามด้วย เป็นการระบุขอบเขตความรับผิดชอบ

ภายใต้เสาหลักทั้ง 3 คณะกรรมการได้ตั้งกรอบ "กลไกการร้องเรียน" ผ่านฐานข้อมูลล่าม ล่ามจะมีระบบขึ้นทะเบียนและมีตัวตนบนโลกออนไลน์ที่บ่งชี้สถานะวิชาชีพพร้อมผลการประเมินจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ระบบฐานข้อมูลนี้ยังช่วยบังคับใช้มาตรฐานให้มีประสิทธิภาพ ช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและสร้าง "black list" หรือระบบไฟเหลือง/แดง/เขียวที่เป็นประโยชน์ต่อวิชาชีพ ทั้งนี้ทางสมาคมฯ จะพิจารณาพรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลต่อไปในอนาคตว่าฐานข้อมูลนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร


นอกจากจะเป็นแหล่งรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ฐานข้อมูลนี้ยังช่วยตรวจสอบและควบคุมคุณภาพล่ามขึ้นทะเบียนอีกด้วย ทางสมาคมฯ ได้พิจารณาเสนอแนวทางการตรวบสอบคุณภาพหลายช่องทาง เช่น ผ่านแบบฟอร์มตรวจสอบงานให้ลูกค้าหรือผู้ใช้งานล่าม การสอบทบทวน (Audit) หรือแบบสอบถาม โดยออกในรูปแบบไม่เปิดชื่อสาธารณะ (Anonymous) ผ่านกลไกตรวจสอบหลังบ้านที่รัดกุม ล่ามที่ขึ้นทะเบียนแต่ละรายจะผ่านการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพ และเปิดเผยสมรรถนะ รายละเอียดส่วนนี้จะพิจารณาต่อไปอีกภายหน้า



กลไกการศึกษาและพัฒนาวิชาชีพล่ามแบบ Virtuous Learning Cycle


ร่างมาตรฐานนี้เสนอแนวทางยกระดับการศึกษาของล่ามและพัฒนาวิชาชีพล่ามนอกเหนือจากหลักสูตรที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น การสนับสนุนให้ล่ามพัฒนาวิชาชีพส่วนบุคคล การสร้างระบบฝึกงานล่ามหรือโค้ช (Mentor) การสร้างระบบ Consultant Interpreter เพื่อช่วยเฟ้นหาล่ามหน้าใหม่ให้เหมาะกับงาน แนวทางต่างๆ เหล่านี้มุ่งสร้างวัฏจักรการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Virtous Learning Cycle) ล่ามมีโอกาสได้สร้างสมรรถนะ ออกไปปฏิบัติหน้าที่ ก่อนกลับมาทบทวนและพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มสมรรถนะต่อไป


ตัวอย่างทักษะเสริมที่จะจัดเพื่อล่าม เช่น การนำเสนอและการพูดในที่สาธารณะ ทักษะการพัฒนาบุคลิกภาพ ทักษะการค้นคว้าและวิเคราะห์ สมรรถนะทางเทคโนโลยี ความรู้ด้านการบัญชีและการทำภาษี เป็นต้น ทั้งหมดนี้อาจจะอยู่ในรูปของแนวทางหรือหลักสูตร เราอาจจะเห็นความร่วมมือระหว่างสมาคมฯ และหน่วยงานศึกษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป



ประมวลจริยธรรมล่ามวิชาชีพเป็นประเด็นใหญ่ครอบเสาหลักทั้งสาม


ประมวลจริยธรรม คือ กติกาที่เราทุกคนต้องปฏิบัติร่วมกัน

คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญเรื่องจริยธรรมล่ามเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนและบ่งชี้ความสามารถของล่ามและภาพลักษณ์ของวิชาชีพล่ามในองค์รวม ร่างประมวลจริยธรรมนี้อ้างอิงมาจากประมวลฯ ของสมาคมล่ามต่างประเทศทั้งหมด 4 ฉบับ (AIIC, NAATI, ITI และ IAPTI) แบ่งออกเป็น 8 หมวดดังนี้


หมวด 1. ความเป็นมืออาชีพ(Professionalism) ว่าด้วยการแต่งตัว การรับงาน และมารยาทที่พึงปฏิบัติระหว่างให้บริการ

หมวด 2. ความโปร่งใส (Transparency) ว่าด้วยความสุจริตและการตกลงตามเงื่อนไขการว่าจ้าง

หมวด 3. ความถูกต้องและครบถ้วน (Competency) ว่าด้วยการถ่ายทอดความหมายให้ถูกต้องและครบถ้วน

หมวด 4. ความเป็นอิสระ เป็นกลาง และหลีกเลี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน (Impartiality) ว่าด้วยการปฏิบัติตนเป็นกลาง

หมวด 5. การรักษาข้อมูลที่เป็นความลับ(Confidentiality) ว่าด้วยการไม่เปิดเผยข้อมูลลูกค้าของล่าม

หมวด 6. การปฏิบัติตัวต่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน (Solidarity)

หมวด 7. การเคารพในความหลากหลาย(Diversity)

หมวด 8. การพัฒนาตนเอง (Self-development)

 

ส่องผลสำรวจในที่ประชุม


สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้จัดแบบสำรวจในที่ประชุม 3 ข้อ คือ


1. ท่านอยากให้สมาคมฯ มีบทบาทอย่างไร

2. ปัญหาที่ท่านพบจากการปฏิบัติงานล่าม/ใช้บริการล่าม (หลังฟังร่างมาตรฐาน)

3. ท่านคาดหวังว่าจะได้อะไรจากมาตรฐานวิชาชีพล่าม


ผลตอบแบบสอบถามมีดังนี้


ผู้เข้าร่วมประชุมคาดหวังให้สมาคมนักแปลและล่ามฯ เป็นผู้วางมาตรฐานและจัดสอบวัดระดับ


ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่มุ่งให้สมาคมฯ เป็นผู้วางมาตรฐานและจัดสอบวัดระดับล่าม โดยเบื้องต้นทางสมาคมฯ ได้รับเรื่องพิจารณาระบบสอบวัดระดับสมรรถนะภาษาอังกฤษจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (FRELE-TH) และจะพิจารณาหาแนวทางวางกรอบมาตรฐานตามกรอบคุณวุฒิ 8 ระดับของ TPQF ต่อไปในอนาคต


ปัญหาของล่าม/ผู้ใช้ล่ามอยู่ที่ "อัตราค่าจ้าง" "ปัจจัยภายนอก" "คุณภาพการแปล"

"อัตราค่าจ้าง" ยังคงเป็นปัญหาอันดับต้น สอดคล้องกับผลการสำรวจก่อนหน้านี้ รองลงมาคือ "ปัจจัยภายนอก" และ "คุณภาพการแปล" สิ่งที่ต่างไปจากผลสำรวจก่อนหน้านี้คือ "ปัจจัยภายนอก" ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันล่ามตื่นตัวและมองว่าปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้เป็นปัญหาปัญหาอย่างหนึ่ง ส่วน "คุณภาพการแปล" ยังเป็นประเด็นสำคัญและสอดคล้องกับแบบสอบถามครั้งก่อน


ผู้เข้าประชุมหวังให้มาตรฐานนี้ช่วยพัฒนาวิชาชีพและสภาพการจ้างงานให้เป็นธรรม

แม้ผู้เข้าร่วมจะกังวลเรื่อง "อัตราค่าจ้าง" และ "คุณภาพงานแปล" เป็นอันดับต้นๆ แต่ความคาดหวังอันดับแรกกลับเป็นเรื่อง "การพัฒนาวิชาชีพ" "การพัฒนาสภาพการจ้างงานให้เป็นธรรม" และ "การเข้าใจล่าม/สร้างเครือข่าย" ตามลำดับ ผลสำรวจนี้ชี้ให้เห็นว่าล่ามปัจจุบันตื่นตัว ให้ความสำคัญกับภาพรวมของวิชาชีพล่าม และต้องการหน่วยงานหรือมาตรฐานที่ช่วยกำกับ/ยกระดับวิชาชีพล่ามให้ดีขึ้นกว่าเดิม


 

ถาม-ตอบ



Q: ข้อสอบจะเหมือนข้อสอบเข้าเรียนล่ามหรือไม่ หรือเป็นเหมือน Language Proficiency Test

A: ไม่เหมือนกับ Language Proficiency test เพราะล่ามไม่ได้อาศัยทักษะทางภาษาอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยทักษะเสริมอื่นๆ เช่น ทักษะการวิเคราะห์ การถ่ายทอดสาร



Q: การวัดระดับจะครอบคลุมคนไทยอย่างเดียวหรือไม่ และครอบคลุมภาษาใดบ้าง

A: เบื้องต้นคาดว่าสามารถครอบคลุมบุคคลสัญชาติอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ต้องพิจารณาเรื่องข้อจำกัดทางกฎหมายและความสามารถของผู้ตรวจข้อสอบเป็นสำคัญ เบื้องต้นการจัดสอบวัดระดับนี้น่าจะใช้วิธี Recognition ก่อน โดยให้เพื่อนร่วมงานเป็นผู้รับรองล่ามด้วยกัน



Q: จากการที่เคยมีประสบการณ์เป็นครูสอนภาษา เห็นมาเยอะ มีบางท่านที่เคยเรียนภาษา แต่ถ้าไม่ค่อยได้ใช้ หรือพัฒนาความรู้ต่อยอด ความสามารถทางภาษาอาจจะถดถอยเพราะ ภาษาเป็นวิชาทักษะ ต้องหมั่นฝึก เขียน อ่าน พูด ฟังเสมอ ดังนั้น การวัดระดับความสามารถของล่าม แต่ละปี หรือทุกสองปี น่าจะช่วยรักษาระดับล่ามมืออาชีพ

A: เห็นด้วย ตอนนี้ทางสมาคมฯ พิจารณาจะออกวุฒิล่ามอยู่ แต่รายละเอียดในการสอบวัดคุณวุฒิจะแจ้งต่อไปในการประชุมครั้งหน้า



Q: บางประเทศมีการรับสมัครล่ามเพื่อขึ้นทะเบียน ในกรณีล่ามศาล ไม่ได้ระบุคุณสมบัติของล่ามอย่างชัดเจน อย่างล่ามบางท่านที่ประเทศไทย มีประสบการณ์แต่ไม่ได้เรียนการแปล หรือล่ามเฉพาะทาง แต่มีประสบการณ์ และมีคลังศัพท์สามารถนำไปใช้ในการเป็นล่ามได้ และเรียน หรือทำงานสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องนั้น ๆ ไม่ทราบจะมีการพิจารณา วัดระดับได้อย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ว่า ทางสมาคม สามารถรับล่ามลงทะเบียน และแยกเป็นสาขาวิชา เพราะล่ามบางคน ไม่ได้ถนัด หรือมีคลังศัพท์ทุกสาขา โดยการขึ้นทะเบียนล่าม น่าจะช่วยในการยืนยันความเป็นมืออาชีพในสาขานั้นด้วย

A: ล่ามส่วนใหญ่เป็นผู้มีความรู้หลากหลายสาขา (Generalist) การสอบวัดระดับนี้ไม่ได้มีเจตนาระบุประเภทล่ามไว้โดยเฉพาะ แต่จะวัดระดับสมรรถนะของล่ามตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนล่ามเฉพาะทาง ทางสมาคมฯ พิจารณากำหนดเกณฑ์การอบรมหรือการถือใบวุฒิวิชาชีพนั้นเป็นรายๆ ไป

 

ก้าวถัดไป

  1. สมรรถนะวิชาชีพ - คณะกรรมการฯ จะพิจารณาต่อไปว่าจะปรับเกณฑ์สมรรถนะที่ร่างไว้เข้ากับมาตรฐานวิชาชีพของ TPQI อย่างไร

  2. การสอบวัดระดับ - ที่ประชุมทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่าควรจัดสอบวัดระดับ ทางคณะกรรมการฯ จะพิจารณากรอบการจัดสอบวัดระดับต่อไป โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจัดสอบด้วยระบบ recognition ก่อน ส่วนเรื่องภาษาจัดสอบและกรอบการวัดระดับจะให้รายละเอียดต่อไปภายหลัง

  3. เผยแพร่ร่างมาตรฐานในวงกว้างกว่าเดิมและกำหนด Forum ครั้งถัดไป

  4. ฐานข้อมูลล่าม - เริ่มจัดทำฐานข้อมูลโดยอิงจากฐานข้อมูลล่ามของสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย

  5. ประมวลจริยธรรม - ปัจจุบันค่อนข้างนิ่งแล้ว เหลือใส่รายละเอียดและเผยแพร่

  6. มาตรฐานทางเทคนิค - ปัจจุบันค่อนข้างนิ่งแล้ว เหลือใส่รายละเอียดและเผยแพร่


Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page