มีนาคมเป็นเดือนที่งานล่ามถูกยกเลิกมากที่สุดในประวัติการณ์ วิกฤตการณ์โควิดทำให้งานประชุมต่างๆ ถูกยกเลิกกันรัวๆ แล้วล่ามอย่างเราจะอยู่กันยังไงคะคุณ บทความวันนี้เกิดจากรีเควสของลูกค้าผู้น่ารักที่อยากจัดประชุมออนไลน์ แต่เครื่องมือประชุมออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบัน เช่น Skype, Zoom หรือ Webex ไม่รองรับการสื่อสารข้ามภาษา ผู้เข้าร่วมประชุมต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางหรือหาล่ามมาช่วยแปลแบบ Consecutive แทน ทำให้การประชุมยืดเยื้อและไม่คล่องตัว
อุปกรณ์ช่วยชีวิตล่ามในสถานการณ์นี้ คือแอปพลิเคชั่นสำหรับการประชุมข้ามภาษา หรือ Remote Simultaneous Interpretation platform (RSI) โดยแอปพลิเคชั่นที่จะมานำเสนอวันนี้มีทั้งหมด 3 ตัว คือ KUDO, Interprefy และ Interactio
KUDO แอปสำหรับประชุมออนไลน์ พร้อมล่ามในตัวเสร็จสรรพ
KUDO เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อการให้บริการทางภาษา (Langage as a service platform หรือ LASS platform) ก่อตั้งเมื่อเดือนมกราคม ปี 2017 โดยคุณ Fardad Zabetian ภายในเวลาสองปี KUDO เติบโตอย่างรวดเร็ว และขยายพื้นที่สตูดิโอ/พาร์ทเนอร์ 13 แห่งทั่วโลกในอเมริกา ยุโรป และล่าสุดคือจีน
สร้างโพล แนบเอกสาร ส่งข้อความ และฟังล่ามแปลสดแบบไร้รอยต่อ
ฟีเจอร์หลักที่เราจะนำมาโชว์วันนี้คือ Video Conference ของ KUDO ซึ่งหน้าตาแบบนี้
ดูผิวเผิน คล้ายๆ กับ แอปประชุมออนไลน์ทั่วไป แต่ถ้ามองด้านล่างซ้ายมือ จะเห็นปุ่มให้กดเลือกภาษาว่าอยากฟังภาษาอะไร เช่น Floor (เสียงที่ใช้ประชุมกันจริงๆ) หรือ English และภาษาอื่นๆ ที่ล่ามจะแปล
ด้านขวามือ มีปุ่มให้เลือก 4 ปุ่มคือ แชร์หน้าจอ (share screen) ส่งข้อความหาผู้เข้าร่วมประชุม (Messaging) สร้างโพล (polls) หรือแม้แต่แนบเอกสารให้ผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนดาวน์โหลด (Documents) ปู๊นชอบปุ่ม Polls เป็นพิเศษ เพราะจะแสดงผลออกมาเป็นกราฟหรือเป็นพายชาร์ตก็ยังได้ หลังจบประชุม ยังดาวน์โหลดออกมาได้ด้วย
ด้านล่างเป็นโซนควบคุมเสียง ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถปรับระดับเสียง เปิดไมค์ เปิดวิดีโอ และตั้งค่าอื่นๆ ได้ (เช่น ภาษาที่ใช้ใน interface) ถ้าอยากจะขอไมค์พูด จะต้องกดปุ่มสีฟ้า “Request to Speak” เพื่อขอพื้นที่พูด เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้ออกแบบมาให้พูดทีละคน
ล่ามเลือกฟังเสียงต้นทาง เสียงปลายทาง และแปลแบบรีเลย์ได้
มาดูฝั่งล่ามบ้าง หน้าตาแอปที่ล่ามเห็นจะเป็นแบบนี้
หน้าจอตรงกลาง คือภาพที่ประชุมที่ล่ามจะได้รับแบบเดียวกันกับผู้เข้าประชุมคนอื่นๆ เพิ่มเติมคือแผงควบคุมเสียงด้านล่างและด้านขวามือ ตรงแถบด้านล่าง ล่ามสามารถเลือกเปิดปิดไมค์ (Mic on/off) เพิ่มระดับเสียง หรือปิดไมค์ชั่วคราวเวลาไอได้ (Mute) (โอ้ มายก็อด เหมือนตู้ล่ามของจริงเลย) กล่องขาวมุมบนขวามือคือแผงควบคุมภาษาที่ล่ามจะพูด/แปล (Outgoing channel) ส่วนกล่องขาวด้านล่างมีไว้ควบคุมเสียงเข้า (Incoming Channel) ถ้าล่ามไม่อยากฟังเสียง Floor สามารถเลือกฟังเสียงเพื่อนร่วมล่ามเพื่อแปลแบบ relay อีกทีก็ได้ (เก๋ไก๋มากค่ะคุณผู้ชม) ปุ่มอีกอันที่ไม่เห็นในนี้คือปุ่ม “Hand over” หรือ “Request to Switch” ปุ่มนี้ช่วยส่งสัญญาณเตือนให้คู่ล่ามอีกคนรับไมค์ต่อ เป็นปุ่มที่เพิ่งพัฒนาใหม่และเรียลมาก! กดปุ๊บคู่ล่ามจะมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 60 วินาทีก่อนรับไมค์ต่อ
ใช้งานได้หลายแพลตฟอร์มทั้งคอมพิวเตอร์ iPad และมือถือ
KUDO รองรับการใช้งานทั้งระบบปฏิบัติการ Windows และ MAC โดยอยู่ในรูปเว็บเบราซอร์ผ่าน Chrome และ Firefox เนื่องจากรองรับระบบ WebRTC (Website Real time communication) หากใช้มือถือสามารถดาวน์โหลดแอปได้ฟรีทั้ง Android และ iOS ตอนนี้ออกตัวแอปพลิเคชั่นที่ติดตั้งบน local storage แล้วด้วย
ต้องผ่านการอบรมเป็น KUDO Certified translator ก่อน จึงจะใช้แอปได้
KUDO ออกแบบมาเป็น RSI แพลตฟอร์มที่พร้อมให้บริการล่ามในที่ประชุม ดังนั้นใช่ว่าล่ามทุกคนจะใช้โปรแกรมนี้ได้ทันที ก่อนใช้งานจะต้องผ่านการฝึกอบรมเป็น KUDO Certified Interpreter ก่อน ข่าวดีคือการอบรมนี้ “ฟรี” ที่สำคัญใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง คุณก็เป็นล่ามให้ KUDO ได้แล้วจ้า ปัจจุบัน KUDO มีล่ามในเน็ตเวิร์กประมาณ 1,300 คน และมีสตูดิโอหรือ Distance Interpretation Hub (DI Hub) พร้อมให้ล่ามทำงานในตู้ล่าม 13 แห่งทั่วโลก (ในไทยยังไม่มี หรือเราจะตั้ง Studio สักที่หนึ่งดีมั้ยเน้อ) ถ้าใครสนใจจะเป็นล่าม กดจิ้มได้เลยที่ลิงก์นี้
ค่าบริการเริ่มต้นที่ 175 USD/ชั่วโมง
KUDO คิดค่าบริการสองแบบคือเหมาจ่ายรายเดือน (Subscription) หรือจ่ายค่าบริการตามจริงโดยวางเงินล่วงหน้า (Pre-paid) แต่ค่าใช้จ่ายแบบหลังจะแพงกว่าเกือบสองเท่า หากต้องการทราบราคาจริงๆ ต้องติดต่อทาง KUDO เพื่อขอใบเสนอราคา กรณีที่เป็นล่ามและอยากขายแพลตฟอร์มนี้ให้ลูกค้า จะได้สิทธิ์ลดราคาพิเศษประมาณ 20% แต่หากเราถูก KUDO จ้างเป็นล่าม เราไม่ต้องเสียค่าแพลตฟอร์มและสามารถเรียกค่าตัวได้ตามปกติโดยไม่โดนหักค่าใช้จ่ายใดๆ ลูกค้าจะเป็นฝ่ายจ่ายค่าบริการแพลตฟอร์มนี้เอง สำหรับ
จุดเด่น
เป็นมิตรกับล่ามมาก KUDO พัฒนาโดยคนที่เป็นล่ามโดยตรง จึงไม่แปลกใจเลยว่าฟังก์ชันทุกอย่างครบ และเอาใจล่ามไปเต็มๆ จากการใช้งานจริงผ่าน Wifi พบว่าระบบเสถียรมาก ถ้าภาพล่ม ระบบจะกู้เสียงให้ก่อนเสมอ เพราะเสียงสำคัญกว่าภาพ
ในมุมมองลูกค้า KUDO เป็นแอปที่ให้บริการเสร็จสรรพ ทั้งแพลตฟอร์มและล่าม ลูกค้าไม่ต้องประชุมทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่นอื่น เพียงแค่ใช้แพลตฟอร์มนี้ก็สื่อสาร นำเสนอสไลด์ และฟังล่ามแปลได้เลย ถือว่าครบจบในแอปเดียว
ให้กลิ่นอาย “โอลด์สคูล” ในคราบโมเดิร์น ผู้พัฒนาระบบหลังบ้านเป็นล่าม จึงไม่แปลกใจที่เห็นหน้าตาแอปเหมือนระบบล่ามทั่วไปที่นำขึ้นคลาวด์ ล่ามมือเก๋าที่อยากลองอะไรใหม่ๆ ใช้แอปนี้ได้เลย ไม่ยุ่งยาก แถมยังมีฟังก์ชันเชื่อมต่อแบบไฮบริด คือ ถ้าจะใช้อุปกรณ์ล่ามทั่วไปเพื่อควบคุมระบบก็ทำได้แล้วสตรีมเสียงขึ้นคลาวด์ เหมาะกับงานประชุมที่ต้องการสตรีมให้ผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ ที่มาร่วมประชุมไม่ได้
ต้นปี 2020 KUDO ถูกนำไปอยู่ใน Microsoft team แล้ว ลูกค้าสามารถเข้าประชุมผ่าน Microsoft Team ได้เลย ล่าสุดมีฟังก์ชันวิเคราะห์การใช้งานโดยสร้างเป็นรายงานเพื่อดูว่าใครเข้าร่วมประชุมบ้าง ล่าสุดรองรับการล่ามภาษามือให้ผู้เข้าประชุมที่มีปัญหาด้านการได้ยิน ดูแล้วน่าจะมีโอกาสพัฒนาได้ไกล
จุดด้อย
ใช่ว่าทุกคนจะใช้ได้ ต้องเป็นล่ามที่ผ่านการฝึกอบรมกับเขาก่อน ค่อนข้างจำกัดการใช้งาน แต่มองอีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นการคัดกรองคุณภาพล่ามที่ดี
ศูนย์ให้บริการอยู่ที่อเมริกา ไม่มีศูนย์ฯ ที่ไทยหรือทวีปเอเชีย หากต้องสื่อสารกับผู้ดูแลระบบ จะมีปัญหาเพราะช่วงเวลาค่อนข้างต่างกัน
แอปมือถือรองรับเฉพาะระบบ Android เท่านั้น ถ้าผู้เข้าร่วมประชุมใช้ iPhone จะใช้ แอปนี้ไม่ได้ ต้องเชื่อมต่อผ่านเว็บเบราเซอร์เท่านั้น ไม่มีแอปเฉพาะตัว
ข้อมูลแอปพลิเคชั่น
ชื่อโปรแกรม : KUDO
รุ่น/ปีที่ออก : V.1 (Desktop app), V.5 (Mobile app)
ลักษณะการติดตั้ง : Web application, Mobile Application, Desktop application
ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) : ใช้ Firefox, Chrome เท่านั้น
ดาวน์โหลด : KUDO Desktop Application (Android), KUDO Live Mobile / Tablet (Android), KUDO Live Mobile / Tablet (iOS), KUDO Meetings for Microsoft Teams
เว็บไซต์ : https://kudoway.com
Interactio ยืดหยุ่น เน้นความเป็นกันเอง ให้บริการแบบตัวต่อตัว
Interactio ก่อตั้งในปี 2014 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศลิทัวเนียและสหรัฐอเมริกา Interactio คือแพลตฟอร์มให้บริการล่ามและสตรีมเสียง มุ่งยกระดับประสบการณ์จัดงานประชุมให้ทันสมัยยิ่งกว่าเดิม ตัวแพลตฟอร์มใช้งานได้ทั้งคอมพิวเตอร์และมือถือ
หน้าตาแพลตฟอร์ม Interactio เรียบง่าย ด้านบนมีปุ่มเปิด/ปิดกล้อง ควบคุมระดับเสียง และเลือกฟังเสียงประชุม/เสียงล่าม ด้านล่างมีปุ่มขอยกมือเพื่อพูด (Raise hand) และปุ่มเปิดไมค์ (speak) ด้านขวามือคือกล่องข้อความสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมส่งข้อความหากันและกันได้ ดูคร่าวๆ แล้วคล้ายคลึงกันกับ KUDO เลย จุดที่ไม่เหมือนกันกับ KUDO คือแชร์สไลด์และแนบเอกสารไม่ได้ แต่มีฟังก์ชันแจ้งผู้พูดคนอื่นๆ ให้พูดช้าลง (slow down) ล่าสุดทางผู้ผลิตแจ้งว่าจะเริ่มเปลี่ยนลักษณะการสื่อสารจากการพูดได้ทีละคนเป็นพูดแบบ “open mic” พูดง่ายๆ ก็คือเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประชุมพูดพร้อมๆ กันได้ แทนการพูดทีละคน
ยกปุ่มกดบนเครื่องแปลภาษามาแสดงบนหน้าจอทั้งดุ้น
สำหรับฝั่งล่าม จะเห็นว่าปุ่มต่างๆ คัดลอกมาจากเครื่องแปลภาษาทั้งดุ้นเลย ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ต้องการแปล (A,B) หรือช่องเสียงเข้า (1,2) ที่ต่างไปจากเครื่องแปลปกติคือมีปุ่ม “Partner” ไว้สะกิดคู่ล่ามว่าเราพร้อมเปลี่ยนไม้แล้วนะ ก่อนกดปุ่ม “Handover” ให้ ตรงกลางมีหน้าจอแสดงเวลาและจำนวนนาทีที่ล่ามทำงาน จะได้คำนวณได้ถูก นอกจากนี้ยังมีหน้าต่างส่งข้อความหากันได้ระหว่างล่าม หรือล่ามจะสื่อสารกับผู้เข้าร่วมประชุมก็ได้
คิดราคาตามระยะเวลาใช้งานและจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม เริ่มต้นที่ 300 USD/การประชุม
Interactio คิดค่าบริการสองแบบคือคิดตามจริง (pay as you go) และคิดแบบเหมาจ่ายรายปี (Annual Subscription) โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ USD 300 ยิ่งมีผู้ประชุมมาก ค่าแพลตฟอร์มก็ยิ่งถูกลง หากเหมาจ่ายรายปี ยิ่งเลือกแพคเกจที่มีงานประชุมเยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งถูกลงเท่านั้น โดยส่วนลดที่ได้อาจถูกลงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 50% นอกจากค่าแพลตฟอร์มแล้ว ยังต้องจ่ายค่าช่างเทคนิคหรือ Dedicated monitoring ที่ราคา 45USD/ชั่วโมง
บริการยืดหยุ่น จะ Teleconference หรือ Stream จากห้องประชุมก็ทำได้
Interactio เป็นแพลตฟอร์มเน้นการสตรีมเสียงและวิดีโอ ดังนั้นจึงค่อนข้างต่างจาก KUDO ตรงที่ไม่ได้มีฟังก์ชันการประชุมละเอียดอ่อนเท่าไหร่นัก เน้นการสตรีมเสียงที่ประชุมและเสียงล่ามไปพร้อมกันมากกว่า ทั้งนี้ไม่ว่าลูกค้าต้องการใช้งานแบบใด Interactio ก็พร้อมจัดสรรให้ ทุกครั้งก่อนใช้งานเราจะต้องคุยกับ Interactio ก่อนว่าต้องการอะไร เช่น ถ้าต้องการประชุมออนไลน์ผ่านแอปอื่นๆ เช่น Zoom หรือ Skype ทาง Interactio จะช่วยสร้างโค้ดงานประชุมและจัดช่องเสียงสำหรับฟังล่าม หากจะใช้แพลตฟอร์ประชุมโดยตรงของ Interactio ก็ทำได้ ทั้งนี้ค่าบริการก็จะต่างกัน
ข้อดี
ยืดหยุ่น ไม่ว่าจะ Teleconference หรือ งานประชุมใหญ่ที่สตรีมสดจากห้องประชุมก็ใช้ Interactio ได้ ผู้เข้าร่วมงานประชุมสามารถฟังเสียงล่ามผ่านเว็บเบราเซอร์ของ Interactio หรือผ่านแอปมือถือโดยตรงทั้ง Android และ iOS
ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง Interactio ตอกย้ำจุดต่างที่การให้บริการอย่างเป็นกันเอง ทุกครั้งก่อนส่งใบเสนอราคา Interactio จะนัดประชุมทางไกลแบบตัวต่อตัวเพื่อนำเสนอแผนการให้บริการต่างๆ
จากการทดสอบระบบของ Aiic พบว่า Interactio เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่กรองเสียง sweep ออกจากระบบได้และสอดคล้องกับมาตรฐาน ISO
ข้อเสีย
เนื่องจาก Interactio ให้บริการยืดหยุ่นและเปิดกว้างมาก จึงอาจดูไม่มีจุดยืนของตนเอง การให้บริการล่ามดูคล้าย Interprefy คือทำงานผ่านมือถือแต่ก็ดูไม่ใช่จุดขายเสียโดยตรง
ราคาสูงและไม่โปร่งใส แม้ Interactio จะคิดราคาค่าบริการสองแบบคือคิดตามจริงและเหมาจ่ายรายปี แต่ค่าบริการโดยรวมสูงกว่าคู่แข่งอย่าง KUDO (เริ่มที่ 175USD) และ Interprefy (เริ่มที่ 200 USD)
ไม่มีศูนย์ให้บริการในประเทศไทย แต่ Interactio ตอกย้ำว่าพร้อมให้บริการ 24/7 ทั่วโลก
ข้อมูลแอปพลิเคชั่น
ชื่อโปรแกรม : Interactio
รุ่น/ปีที่ออก : ไม่ระบุ
ลักษณะการติดตั้ง : Web application, Mobile Application
ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) : ไม่พบข้อมูล
ดาวน์โหลด : พิมพ์ "DEMO" เพื่อทดสอบระบบ Interactio Website application (Web App), Interactio Mobile App (Android), Interactio Mobile App (iOS)
เว็บไซต์ : https://interactio.io
Interprefy เน้น Event สเกลใหญ่ โปร่งใสเรื่องราคา
เจาะกลุ่ม Organizer และ LSP
Interprefy ก่อตั้งในปี 2014 โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองซูริคประเทศสวิสเซอร์แลนด์ มีศูนย์บริการ 11 แห่งทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย วิสัยทัศน์ของ Interprefy คือ ต้องการกำจัดการใช้งานเครื่องมือล่ามแบบวอล์กกี้ทอร์ลกี้ และเปลี่ยนมือถือของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนให้เป็นเครื่องแปลภาษาอัตโนมัติ
มือถือคือเครื่องแปลภาษาของผู้เข้าประชุมทุกคน
จุดเด่นของ Interprefy อยู่ที่การเปลี่ยนมือถือให้กลายเป็นเครื่องแปลภาษา เพียงแค่ดาวน์โหลดแอป “Interprefy” และป้อนหมายเลข Token ก็สามารถฟังเสียงล่ามหรือเสียงจากที่ประชุมได้ทันที กรณีที่ใช้แอปประชุมออนไลน์อื่นๆ เช่น Zoom หรือ Skype ผู้เข้าประชุมก็สามารถฟังเสียงล่ามโดยเปิดแอปมือถือฟังแปลสดๆ ควบคู่กันแบบเรียลไทม์
Interprefy Meet แอปเดียวเพื่อการประชุมข้ามภาษา
หากต้องการประชุมออนไลน์ Interprefy มีเว็บแอปที่เรียกว่า Interprefy Meet ลักษณะหน้าตาแบบนี้
มองผิวเผินค่อนข้างเรียบง่าย เราจะเห็นหน้าจอผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละคน (จากตัวอย่างคือภาพถ่ายทอดสดจากห้องประชุม แต่จริงๆ จะเป็นภาพจากกล้องเว็บแคมก็ได้นะ) ด้านบนมีปุ่มปรับระดับเสียงเข้า/ออก สามารถกดบันทึกการประชุมและแชร์หน้าจอตนเองได้ ด้านขวาที่เห็นตัวอักษรแน่นๆ คือข้อความที่ส่งให้ผู้เข้าร่วมประชุม หรือทีมช่างเทคนิคจาก Interprefy ฟังก์ชันอีกอันที่เด็ดดวงมากคือ live captioning พูดง่ายๆ ก็คือถอดเสียงสิ่งที่วิทยากร/ผู้เข้าร่วมประชุมพูดให้เห็นแบบสดๆ โดยใช้ AI หลังบ้านของ Interprefy ความถูกต้องอยู่ที่ประมาณ 90%
ล่ามเห็นทุกอย่างในที่ประชุมและส่งข้อความหาคู่ล่าม/ผู้จัดงานได้
หน้าจอของล่ามคล้ายกันกับผู้เข้าประชุม ตรงกลางคือวิดีโอสตรีมที่ใช้ทั้งหมด ด้านขวามือมีกล่องข้อความ 2 กล่อง กล่องบนไว้คุยกับคู่ล่าม ส่วนกล่องล่างมีไว้คุยกับผู้จัดงาน/ผู้เข้าประชุม ด้านบนมีปุ่มปรับเสียงเข้า/ออก และปุ่ม “Handover” ไว้เปลี่ยนผัดกับคู่ล่าม ดูโดยรวมค่อนข้างใช้งานง่าย ชอบกล่องข้อความ 2 กล่องที่แยกจากกัน เพราะชีวิตจริง อาจต้องคุยกับล่ามและไม่อยากให้รวมกันกับกล่องข้อความอื่นๆ
คิดค่าบริการตามจริง แยกเป็นค่าแพลตฟอร์ม ช่างเทคนิค และ Project Manager
Interprefy มีลักษณะคล้ายแอปพลิเคชั่นจัดงานอีเวนท์ การใช้งานแต่ละครั้งจึงอาศัยทีมงานต่างๆ เช่น ช่างเทคนิคติดตั้ง ช่างตรวจสอบระบบ ตลอดจนผู้ประสานงานโครงการ ค่าบริการจึงคิดตามรายชั่วโมงการทำงานของฝ่ายต่างๆ ส่วนค่าหูฟังจะคิดตามจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจริงที่ 2.3 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ถ้าฟังผ่านแล็บท็อปราคาจะกระโดดไปอยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐ หากเป็น LSP (Language service provide) จะมีส่วนลดพิเศษให้ประมาณ 10%
ยืดหยุ่น พร้อมปรับสเกลตามใจลูกค้า
Interprefy เจาะตลาดการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มล่ามทางไกลบนระบบคลาวน์อย่างแท้จริง (cloud-based remote interpretation platform) จุดขายของ Interprefy อยู่ที่ระบบหลังบ้านที่พร้อมรองรับผู้เข้าประชุมในคราวเดียวได้นับพันคน เชื่อมต่อจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก และทุกแพลตฟอร์ม ตั้งแต่มือถือ iPad และคอมพิวเตอร์ ดังนั้นไม่ว่าจะประชุมครั้งใหญ่หรือครั้งเล็ก ก็เชื่อมต่องานประชุมได้อย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังมีทีมงานช่างเทคนิคคอยดูแลงานประชุมทุกขนาด จึงไม่ต้องห่วงว่าการเชื่อมต่อจะล่มหรือไม่ ทีมงาน Interprefy จะทดสอบระบบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังงานประชุมเสมอ
ล่าม Interprefy ต้องเสียเงินค่าอบรมใช้แพลตฟอร์ม 130USD
เช่นเดียวกับ KUDO ใช่ว่าล่ามทุกคนจะใช้ Interprefy ได้ทันที ล่ามจะต้องผ่านการอบรมกับ Interprefy ก่อน แต่การอบรมนี้เสียเงินนะจ๊ะ ราคาล่าสุดอยู่ที่ 130USD/ล่าม ถ้าผู้จัดฯ เห็นว่าล่ามคนนี้ลืมสกิลการใช้ Interprefy ไปแล้วก็ต้องเข้าอบรมอีกโดยเสียเงินค่าเคาะสนิมที่ 40USD
จุดเด่น
เหมาะกับงานเสกลใหญ่ รองรับผู้เข้าร่วมประชุมได้หลักพัน เนื่องจาก Interprefy มีทีมงานที่พร้อมดูแลงานประชุมครบครัน ทั้งตรวจสอบระบบเสียงและวิดีโอของวิทยากรและล่าม ล่ามทุกคนจะถูก Teamviewer จับหน้าจอไว้หมดนะจ๊ะ ถ้าทำอะไรไม่ถูก ทีมงานจะช่วยกดให้
เชื่อมต่อผ่านอุปกรณ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ ipad หรือคอมพิวเตอร์ และรองรับทั้งระบบปฏิบัติการ Windows หรือ iOS
ลดค่าใช้จ่ายในงานประชุมใหญ่ๆ ที่ต้องอาศัยล่าม “อิมพอร์ต” เข้ามาในสถานที่จัดงาน ในมุมมองของผู้จัดงาน ถือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า 50% เลยทีเดียวเพราะไม่ต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักของล่าม
เป็นแพลตฟอร์มจัดอีเวนท์ข้ามภาษามากกว่าจะเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารข้ามภาษา เหมาะกับการถ่ายทอดสดและสตรีมงานประชุมให้ผู้เข้าประชุมอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชัน Event Management สำหรับจัดการวิดีโอสตรีมมิ่งของวิทยากร และล่าม
มีทีมงานพร้อมจัดการงานประชุมทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนประชุม ระหว่างประชุม และหลังประชุม ผู้ใช้บริการไม่ต้องเดินทางไปดูสถานที่จัดงาน ทีมงาน Interprefy จะเป็นผู้จัดการทุกอย่าง
มีทีมงานดูแลในประเทศไทย หากมีปัญหาอะไรสามารถติดต่อได้ทันทีอย่างอุ่นใจ
จุดด้อย
ไม่ค่อยเป็นมิตรกับล่าม เพราะล่ามต้องทำงานภายใต้การควบคุมของ Interprefy อีกที อาจจะต้องเสียค่าหัวคิวให้กับ Interprefy
ถ้างานประชุมกินเวลานานอาจเกิดปัญหาได้เพราะแบตเตอร์รี่มือถือไม่ได้อึดขนาดนั้น ผู้จัดงานอาจจะต้องจัดเตรียมพื้นที่ชาร์ตแบตหรือเครื่องถ่ายทอดเสียงระบบวิทยุแบบปกติอยู่ดี ถ้าผู้เข้าประชุมไม่มีหูฟัง ทางผู้จัดก็ต้องเตรียมหูฟังมาให้อีก ไม่ต่างกับการใช้อุปกรณ์ล่ามทั่วไปเลย ถ้าเป็นการประชุมออนไลน์ผ่านเว็บแคมที่มีวิทยากรน้อยไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
คิดค่าบริการจุกจิก เหมาะกับการประชุมสเกลใหญ่ ถ้าเป็นงานประชุมขนาดเล็ก ค่าบริการโดยรวมอาจสูงกว่าอุปกรณ์แปลภาษาทั่วไปด้วยซ้ำเพราะต้องจ่ายทั้งค่าแพลตฟอร์ม ค่าช่าง และค่าจัดการโปรเจค
ข้อมูลแอปพลิเคชั่น
ชื่อโปรแกรม : Interprefy
รุ่น/ปีที่ออก : V.4.3.1 (iOS), V.4.3.53 (Android)
ลักษณะการติดตั้ง : Web application, Mobile Application
ข้อกำหนดซอฟต์แวร์ (System requirement) : iOS 9.0 ขึ้นไป
ดาวน์โหลด : Interprefy Mobile App (Android), Interprefy Mobile App (iOS) ลล
เว็บไซต์ : https://interprefy.com
บทสรุป
ถ้าให้เชียร์ว่าชอบตัวไหนเป็นพิเศษคงบอกว่า KUDO เพราะเป็นแพลตฟอร์มงานประชุมทางไกลที่มาแทนที่แอปพลิเคชั่นประชุมอื่นๆ ได้เลย ไม่เหมือนกับ Interprefy หรือ Interactio ที่ดูต้องอาศัยมือถือเป็นเครื่องแปลภาษา
ถ้าคุณเป็นออร์แกไนเซอร์ที่ให้บริการเช่าตู้ล่ามและจัดงานประชุมใหญ่ๆ ขอเชียร์ Interprefy หมดตัวเพราะมีทีมดูแลทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังจัดงานประชุม แถมยังมีศูนย์ให้บริการในเมืองไทยด้วย อย่างไรก็ตามอย่าลืมว่าถ้าเป็นงานประชุมขนาดใหญ่ที่จัดหลายวันอาจจะมีปัญหาเรื่องแบตเตอร์รี่มือถือได้ เพราะฉะนั้นอาจจะต้องเตรียมจุดชาร์ตมือถือและให้บริการยืมหูฟัง
ถ้าเป็นงานประชุมเล็กๆ และไม่อยากเสียค่า RSI Platform แพงๆ ขอนำเสนอ Zoom เป็นทางเลือกอีกทาง เพราะล่าสุดออกฟีเจอร์ล่ามแล้วนะ แต่จะต้องใช้ Zoom เวอร์ชั่น Business หรือ Enterprise เท่านั้น ดูรายละเอียดฟีเจอร์เพิ่มเติมได้ที่นี่
ล่ามคนไหนที่ว่างงานอยู่และอยากเริ่มรับงานล่ามทางไกล ขอแนะนำให้ไปสมัครเป็นล่ามประชุมทางไกลกับ KUDO (สมัครได้ที่นี่) และ Interprefy (สมัครได้ที่นี่) สำหรับ Interprefy อาจจะต้องสมัครในรูปบริษัทนะ ถ้าว่างก็สมัครผ่าน Inkdot ได้นะคะ (ขอขายเล็กน้อย ฮ่าๆ)
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2020 AIIC ออกรายงานทดสอบสมรรถภาพระบบเสียงและภาพของแพลตฟอร์มให้บริการล่ามทางไกลทั้งหมด 6 ตัว คือ KUDO, Interactio, Catalava, Interprefy, Olyusei, Voiceboxer ทุกแพลตฟอร์มมี Codec ส่ง/รับสัญญาณเสียงค่อนข้างดีระดับหนึ่งและผ่านมาตรฐาน ISO 20108 และ ISO 20109 อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่
ล่ามที่ทำงานอยู่บ้านและอยากได้แนวทางการทำงานแบบฉบับมืออาชีพช่วงสถานการณ์ Covid-19 อ่านแนวทางดีๆ ได้ที่นี่
ขอให้ทุกคนปลอดภัยและห่างไกลจากโรคทั้งปวงค่ะ
Comments