เขียน Prompt ยังไงให้แปลปัง: เทคนิคสายสร้างสรรค์และสายเป๊ะ
- ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา
- 5 พ.ค.
- ยาว 3 นาที
อัปเดตเมื่อ 6 วันที่ผ่านมา
LLM เป็นเครื่องมือที่ใช้งานสารพัดประโยชน์ แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ค่อยถูกใจเท่าไหร่ เพราะว่า Prompt หรือคำสั่งที่เราใส่เข้าไปอาจไม่ดีพอ บทความนี้จะมาสรุปวิธีเขียน prompt สำหรับการแปลงาน ไม่ว่าจะเป็นสำหรับนักแปลสายสร้างสรรค์ (creative) และสายเป๊ะ (accuracy-focused)

💬 Prompt คืออะไรและทำไมจึงสำคัญ
🧩 องค์ประกอบของ Prompt
❌✅ เปรียบเทียบ Prompt ดี-ไม่ดี
🪄 แนวทางการเขียน Prompt สำหรับงานแปลแต่ละประเภท
🤩 แจก Prompt สูตรลับสำหรับนักแปลมือใหม่
Prompt คืออะไรและทำไมจึงสำคัญ 💬
Prompt คือ ข้อความหรือคำถามที่ป้อนให้ AI เพื่อสั่งให้ AI ทำงานตามวัตถุประสงค์ที่เราต้องการ อธิบายง่ายๆ ก็คือ "คำสั่ง" ที่เราคุยกับ LLM การป้อน prompt ที่ดี ทำให้งานแปลออกมามีคุณภาพ ควบคุมทั้งระดับภาษา คำศัพท์ และความแม่นยำ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับคนให้โจทย์ดี งานก็จะออกมาดีตาม อย่าลืมว่า LLM มีความสามารถเยอะ แต่ก็เหมือนเด็กเนิร์ดที่เก่งไปหมดทุกอย่าง พูดได้ดีทุกเรื่องจนเขวออกได้ทุกทาง ในฐานะผู้ใช้ เราต้องป้อนคำสั่งหรือ prompt ให้ครบ อย่าคิดว่า LLM เดาใจเราได้
องค์ประกอบของ Prompt 🧩

อ้างอิงแนวทางการเขียน prompt จาก OpenAI และ Prompt Engineering Guide สรุปองค์ประกอบ prompt ได้ดังนี้
องค์ประกอบ | คำอธิบาย |
Persona | ระบุบทบาทหรือมุมมองที่โมเดลต้องสวม เช่น “คุณคือนักแปลมืออาชีพ” “คุณเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ” ถ้าใช้แค่แปลงาน ส่วนนี้อาจละได้ |
Context | อธิบายบริบทหรือสถานการณ์แวดล้อม ช่วยให้โมเดลเข้าใจวัตถุประสงค์และกรอบการทำงาน เช่น “จะนำคำแปลนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์” หรือ "กลุ่มผู้อ่านคือ วัยรุ่นไทยอายุ 15 ปี" |
Task | บอกให้ชัดว่าต้องการให้ทำอะไร เช่น “สรุปเนื้อหา” “แก้ไขภาษาให้ลื่นไหล” “แปลเป็นภาษาไทย” |
Format | ระบุรูปแบบผลลัพธ์ที่ต้องการ เช่น “ตอบเป็น bullet points” “สรุปใน 1 ย่อหน้า” “จัดทำเป็นตาราง 2 คอลัมน์” หรือ "เขียนไม่เกิน 150 คำ" |
นอกจากองค์ประกอบหลักทั้ง 4 แล้ว อาจเพิ่ม "ตัวอย่าง" เสริมเพื่อ "สอน" ให้ LLM เข้าใจทิศทางคำตอบที่เราอยากได้แม่นยำขึ้น เมื่อนำองค์ประกอบทั้งหมดมาเรียบเรียง อาจเขียน prompt ได้ประมาณนี้
[Persona]: [Context]. [Task]. [Format and Constraints].
[Optional: Examples]
ตัวอย่างการเขียน prompt:
You are a professional English-Thai translator.(Persona) Translate the following short paragraph into fluent Thai for adult readers.(Task) The paragraph is a promotional description of a health supplement. (Context) Make the translation sound natural and engaging. (Task) Output in a bilingual table, English in the left column and Thai in the right column. (Format)
เปรียบเทียบ Prompt ดี-ไม่ดี ❌✅
การเขียน prompt ก็เหมือนกับการเขียนโค้ด แต่เป็นการเขียนโค้ดด้วยภาษาธรรมชาติ (ภาษาธรรมดาที่เราใช้พูด) prompt ที่ดีจะต้องชัดเจน ตรงประเด็นและเข้าใจง่าย สรุปเทคนิคเป็นข้อๆ ดังนี้
คำสั่งชัดเจน (Be Specific)
อย่าพูดกว้างๆ ว่าแปลให้ "ดี" ควรระบุให้ชัดเจนว่าคำว่า "ดี" หมายถึงอะไร
❌ ตัวอย่าง prompt ที่ไม่ดี:
Translate this article into Thai in a nice way.
✅ ตัวอย่าง prompt ที่ดี:
Translate the following article from English into Thai, maintaining the original meaning while using a semi-formal tone suitable for a business blog. Avoid overly technical language and aim for smooth, natural phrasing that a general Thai audience can easily understand.
จากตัวอย่างด้านบน prompt ที่ไม่ดี ระบุ task ไว้หลวมมาก คือ "Translate" และ "in a nice way" โมเดลจะต้องตีความเองว่า "แปลให้ดี" หมายถึงอะไร ให้ลองระบุให้ชัดเจนว่าคำว่า "ดี" ในที่นี้หมายถึงอะไร จากตัวอย่างคือขอ "ภาษากึ่งทางการ" (กำหนดโทนภาษา) "นำไปโพสต์ในบล็อกธุรกิจ" (กำหนดบริบท/การใช้งาน) "อย่าใช้ศัพท์เทคนิคเกิน" (กำหนดข้อยกเว้น) "เน้นภาษาสละสลวย อ่านแล้วลื่นไหล" (กำหนด task ชัดเจน) เจาะกลุ่มผู้อ่านที่คนไทยทั่วไป (กำหนดกลุ่มผู้อ่าน)
ยกตัวอย่างประกอบ
การยกตัวอย่างประกอบจะช่วยให้โมเดลเข้าใจสไตล์และโทนที่ต้องการแม่นยำขึ้น อาจเลือกยกตัวอย่างภายใน prompt หรืออัปโหลดไฟล์ให้โมเดลเรียนรู้
❌ ตัวอย่าง prompt ที่ไม่ดี:
Paraphrase this text to make it sound more natural.
✅ ตัวอย่าง prompt ที่ดี:
Paraphrase the following English text into Thai. Make it sound natural and native-like.
Example:
Original: “We are deeply committed to our customers.”
Edited: "เรามุ่งมั่นใส่ใจให้บริการลูกค้าอย่างเต็มที่"
เลี่ยงภาษาคลุมเครือ
หลีกเลี่ยงคำที่ไม่มีนิยามหรือกรอบชัดเจน เช่น หากต้องการให้โมเดลช่วย "สรุปย่อ" ด้วย prompt "make it shorter" ควรระบุว่า "สั้น" แค่ไหน หากไม่ระบุชัดเจน อาจทำให้ output แกว่ง
❌ ตัวอย่าง prompt ที่ไม่ดี:
Make it shorter but still complete.
✅ ตัวอย่าง prompt ที่ดี:
Summarize this English paragraph in Thai by reducing the length by 30%. Keep all key points intact. Maintain critical information such as names, figures, or core arguments.
อย่าบอกว่า "ห้าม" ทำอะไร
ให้ระบุสิ่งที่ต้องทำใน prompt อย่างชัดเจน หลีกเลี่ยงการสั่ง "ห้าม" เพราะยิ่งเป็นการเปิดช่องทาง/ตัวเลือกที่โมเดล "ทำได้" เพิ่ม เปรียบเทียบก็เหมือนกับเราบอกเพื่อนว่า "อย่าใส่ชุดดำนะแก" เพื่อนอาจจะเลือกใส่ชุดขาว แดง หรือเขียวก็ได้ เราไม่มีทางรู้ ให้บอกเพื่อนตรงๆ ว่าใส่ชุดสีอะไรมาแทนจะดีกว่า
❌ ตัวอย่าง prompt ที่ไม่ดี:
Translate the sentence without sounding robotic.
✅ ตัวอย่าง prompt ที่ดี:
Translate the following sentence into Thai using a conversational and engaging tone, similar to what you would read in a lifestyle magazine or blog. The goal is to make it feel warm and relatable.
สรุปเทคนิคการเขียน prompt
เทคนิค | Prompt ไม่ดี ❌ | Prompt ดี ✅ |
ชัดเจน (Be Specific) | Translate in a nice way | ระบุว่า nice หมายถึงอะไรบ้าง |
ยกตัวอย่างประกอบ (use examples) | Paraphrase and make it sound natural | ยกตัวอย่างประกอบ 1 ประโยค ให้โมเดลเรียนรู้ |
เลี่ยงภาษาคลุมเครือ (Avoid fluffy language) | Make is shorter | ระบุว่าสั้นลงกี่คำ หรือ กี่% |
อย่าบอกว่า "ห้าม" ทำอะไร (Say what to do) | Don't make it sound robotic | ระบุโทนภาษาที่ต้องการ |
แนวทางการเขียน Prompt สำหรับงานแปลแต่ละประเภท🪄
นักแปลงานสายสร้างสรรค์ (creative) และสายเป๊ะ (Accuracy-focused) มีเป้าหมายการทำงานต่างกัน ประเด็นที่ต้องพิจารณาเมื่อเขียน prompt จึงต่างไปด้วย นักแปลต้องตีโจทย์นี้ให้แตก จึงเขียน prompt สั่งให้ LLM ทำงานแทนเราได้ตรงใจ

สายสร้างสรรค์ (Creative) ✨
หากต้องแปลงานคอนเทนต์ งานการตลาด ความหมายของต้นฉบับอาจแกว่งได้บ้าง แต่จะต้องอ่านได้ลื่นไหลเป็นธรรมชาติคล้ายคนเขียนใหม่ ดังนั้น ลักษณะของ prompt ที่ใช้อาจไม่ได้บอกให้มัน Translate หรือ "แปล" ตรงๆ ให้ลองใช้ Paraphrase แทน แล้วคุมลักษณะ/โทนภาษาที่ต้องการในภาษาปลายทาง
ตัวอย่าง
Paraphrase the following text from English into Thai, preserving the original meaning while rewriting it in a smooth, natural style as if written by a professional Thai writer.
สายเป๊ะ (Accuracy-focused) 🎯
หากต้องแปลเอกสารเฉพาะทาง เช่น คู่มือการใช้งาน งานกฏหมาย เอกสารทางการ ควรให้ความสำคัญกับการรักษาความหมายต้นฉบับ 100% ไม่ปรับเปลี่ยนย่อหน้า ลำดับความคิด และใช้ศัพท์เฉพาะทางที่ลูกค้าเลือกอย่างเคร่งครัด อาจลองแนบ glossary ไปพร้อมกับ prompt ทีเดียว
ตัวอย่าง
Translate the following text from English into Thai, strictly preserving the original meaning. Do not omit or add any information. Keep the sentence structure as close to the original as possible.
องค์ประกอบที่ควรระบุใน prompt
ระบุ ภาษาต้นฉบับ และ ภาษาปลายทาง ชัดเจน ป้องกัน LLM หลงทาง
บอก โทน ที่ต้องการ (friendly, formal, playful) เพื่อคุมลักษณะทางภาษา
กำหนด ความตรง/ความสร้างสรรค์ ที่ต้องการ เช่น ต้องยึดตามต้นฉบับ 100% หรือพอแกว่งได้กี่ %
ถ้ามีศัพท์เฉพาะ ต้องบอกใน prompt หรือแนบ glossary
ถ้าต้องการฟอร์แมตเฉพาะ เช่น ตารางเทียบต้นฉบับและฉบับแปล ต้องบอกโมเดลให้ชัดเจน
ทิ้งท้าย
การเขียน Prompt ดี ๆ คือทักษะที่ฝึกได้ หัวใจสำคัญคือต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของงาน (task) ที่เราสั่งและระบุให้ชัดเจนว่าต้องการสิ่งใด (Output) แนะนำให้เริ่มจากการเขียน prompt แบบง่ายก่อน แล้วค่อยปรับให้ละเอียดขึ้น โดยระบุองค์ประกอบอื่นเพิ่ม (context) ถ้าต้องแปลงานปริมาณมาก แนะนำให้เตรียมทำ template ไว้ใช้ เช่น Template แปลเอกสารราชการ หรือแปลโฆษณา บทความหน้าเราจะทดลองทดสอบโมเดล LLM 3 ตัว แล้วเทียบงานแปลจริงกันค่ะ
แจก Prompt สูตรลับสำหรับนักแปลมือใหม่ 🤩
บทความนี้แจก Prompt ฟรี! สำหรับคนทำงานสายสร้างสรรค์และสายเป๊ะ ดาวน์โหลดและนำไปใช้งานจริงได้เลย ภายในมี prompt card ทั้งหมด 6 prompt พร้อมสรุปองค์ประกอบการเขียน prompt ให้ทุกคนปรับเปลี่ยนได้ตามใจชอบ

สรุปเทคนิคการเขียน prompt แปลงาน
