top of page

สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยจับมือกับ TPQI เพื่อร่างเกณฑ์การสอบวัดระดับวิชาชีพล่าม




เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย (TIAT) และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช. หรือ TPQI) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่างเกณฑ์การจัดสอบวัดระดับวิชาชีพล่ามเป็นครั้งแรกที่อาคารสปาฟา


ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก คุณ "กันต์" (วรกันต์ ทักขิญเสถียร) นักวิชาการมาตรฐานวิชาชีพ สำนักบริหารคุณวุฒิวิชาชีพ 4 ประจำสคช. มาชี้แจงแนวคิดและขั้นตอนการวางเกณฑ์การจัดสอบวัดระดับเพื่อให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ โดยมีคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจพัฒนามาตรฐานวิชาชีพมาร่วมประชุมที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ทั้งหมด 9 ท่าน


 


กรอบคุณวุฒิที่สมาคมฯ นำเสนอยังกว้างไป


สมาคม TIAT ได้นำเสนอกรอบคุณวุฒิ 8 ระดับที่จัดทำไว้เมื่อเดือนมกราคมให้ทาง TPQI พิจารณา พบว่ากรอบดังกล่าวยังกว้างไป และขาดเกณฑ์การประเมินวิชาชีพอย่างเป็นระบบ


ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานวิชาชีพ คุณกันต์ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการฯ ทราบแนวทางการร่างกรอบคุณวุฒิทั้ง 8 ระดับ โดยยกกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ "การจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE)" เป็นตัวอย่าง


อยากให้พิจารณาว่าอาชีพล่ามมีเกณฑ์ความสามารถขั้นต้น (Minimum Requirement) ที่ตลาดต้องการเท่าไหร่ เขาอยากให้เริ่มต้นที่ระดับหนึ่ง จริงๆ หรือไม่ - TPQI

ย้อนกลับไปสมัยนั้น ทางคณะกรรมการวางมาตรฐานวิชาชีพ MICE เองก็มีความคิดอยากร่างมาตรฐานตั้งแต่ระดับที่ 1 เพื่อครอบคลุมเด็กฝึกหัดที่ทำงานในสายอาชีพ แต่ในทางปฏิบัติ พบว่านิยามคุณวุฒิระดับที่ 1-3 นั้นกลับไม่สอดคล้องกับการทำงานจริง เนื่องจากคุณวุฒิระดับที่ 1 ยังมีความสามารถไม่มากพอ จึงต้องเริ่มตั้งแต่ระดับ 3 เป็นต้นไป



กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแบ่งออกเป็น 8 ระดับ


กรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติพัฒนามาจากกรอบคุณวุฒิอาเซียน โดยคุณวุฒิระดับต้น "เน้นให้ปฏิบัติได้ตามเกณฑ์การปฏิบัติงาน แต่ในระดับคุณวุฒิสูงๆจะสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่หรือวิธีการในการทำงานหรือคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ในอาชีพของตนเอง" (ที่มา: TPQI) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้


นิยามคุณวุฒิทั้ง 8 ระดับตามกรอบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ (ที่มา TPQI))

ขั้นแรกอาจจะพิจารณาจัดทำแค่ 3 ระดับก่อน แล้วลองทดลองทำให้อยู่ตัว จัดฝึกอบรมจนได้ "แม่ไก่" เยอะๆ ก่อน แล้วค่อยต่อยอด ถ้าทำหมดทุกระดับตอนนี้ เราอาจจะหาจุดยืนไม่เจอ - TPQI

สมาคมฯ ได้รับคำแนะนำให้นำกรอบคุณวุฒิที่จัดไว้เบื้องต้นมา "ละลาย" เข้ากับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ โดยนำค่านิยามในกรอบคุณวุฒิมาวิเคราะห์และตีความก่อนวางนิยามใหม่ให้เข้ากับการปฏิบัติงานจริงในสายอาชีพล่ามหรือเรียกว่า "Functional Mapping"



สร้างกรอบโดยเริ่มจาก Functional Mapping หน่วยสมรรถนะและเกณฑ์การประเมิน


การวิเคราะห์ผังการทำงาน (Functional Mapping) คือเครื่องมือแยก "กระบวนการ/สมรรถนะ" ที่ล่ามพึงมีในการปฏิบัติงาน


...ลองศึกษากรอบมาตรฐานแล้วแตกออกมาเป็น นิยาม ความรู้ ทักษะ และทัศนคติต่ออาชีพ แล้วนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ตั้งต้นสมรรถนะอีกที - TPQI

คณะกรรมการฯ ในที่ประชุมได้หารือและระดมความคิดสมรรถนะล่าม โดยอิงเนื้อหาที่ได้กลั่นกรองจากการประชุมครั้งที่แล้วออกมาเป็นหน่วยสมรรถนะใหญ่และหน่วยสมรรถนะย่อย


หน่วยสมรรถนะย่อยจะเป็นตัวสะท้อนเกณฑ์การประเมิน เกณฑ์การประเมินนี้ก็จะเป็นชุดเครื่องมือตรวจสอบเกณฑ์ สะท้อนให้เห็นว่าเราตั้งเกณฑ์ผิดหรือไม่ เราค่อยกลับไปแก้เครื่องมืออีกที มันจะเป็นอย่างนี้สักพักหนึ่ง - TPQI

เมื่อเกณฑ์การประเมินและหน่วยสมรรถนะสอดคล้องกัน จึงค่อยนำเครื่องมือสอบวัดเกณฑ์ดังกล่าวไปนำร่องทดสอบ เราจะเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น


ประเด็นสำคัญของหน่วยสมรรถนะคือจะต้องเป็นวัตถุประสงค์ที่เป็นรูปธรรม วัดได้ และไม่ตัดสินด้วยอคติส่วนบุคคล (subjective) แต่ละข้อจะต้องกำหนดกรอบการประเมินว่าผลลัพธ์ใดอยู่ในระดับต่ำ กลาง หรือสูง



การวัดระดับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ภาษาเป็นอุตสาหกรรมที่วัดระดับยากเพราะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะฉะนั้นถ้าดูกรอบคุณวุฒิ 8 ระดับแล้ว อาจจะต้องเริ่มอาชีพล่ามที่ระดับ 3 หรือ 4 เพราะนั่นคือระดับที่เริ่มแก้ไขปัญหาเองได้แล้ว

กันต์ ได้เสนอกรอบการวัดระดับภาษาที่สคช. พัฒนาขึ้นภายใต้ชื่อ CEFR (Common European Framework of Reference for Language) การสอบนี้จัดทำเพื่อวัดระดับภาษาอังกฤษ "เพื่อการสื่อสาร" และ "เพื่อการสอน" ผู้สอบจะถูกวัดระดับสมรรถนะทางภาษา แบ่งออกเป็น A1 A2 B1 B2 C1 และ C2 โดยที่ A1 หมายถึงระดับเริ่มต้น และ C2 หมายถึงระดับชำนาญการ


ทางคณะกรรมการฯ ให้ความเห็นว่าจะนำข้อสอบวัดระดับภาษาที่มีอยู่แล้วมาใช้เป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ และมุ่งให้ความสำคัญกับทักษะหลักอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบวิชาชีพล่าม


เพราะเราเข้าใจดีว่า "ใช่ว่าคนที่รู้ภาษา จะเป็นล่ามได้ทุกคน"


ก้าวถัดไป


คณะกรรมการฯ จะเร่งร่างหน่วยสมรรถนะ หน่วยสมรรถนะย่อย และเกณฑ์การประเมินทั้งหมด ก่อนนำเสนอ TPQI อีกทีภายใน 1 เดือน โดยวางเป้าหมายคลอดเกณฑ์จัดสอบล่ามภายในเดือนตุลาคม 2021 ก่อนนำร่องกับภาคีเครือข่าย


เมื่อทำมาตรฐานเสร็จแล้ว ทาง TPQI คาดหวังว่าภาคการศึกษาจะนำมาตรฐานนี้ไปใช้เป็นแนวทางจัดทำหลักสูตรหรือฝึกอบรมเพื่อพัฒนาวิชาชีพล่ามในองค์รวมต่อไป ในระยะยาวมาตรฐานนี้จะช่วยยกระดับวิชาชีพล่ามให้ได้มาตรฐานสากลและสร้างเครือข่ายวิชาชีพให้แก่ "ล่ามมือใหม่" และ "มือเก่า" ในประเทศไทย


คณะกรรมการฯ จะนัดหารือกันครั้งถัดวันที่ 13 มีนาคม ติดตามอัปเดตเร็วๆ นี้ค่ะ


 

รู้จักสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI)


ที่มา: TPQI

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization) โดยใช้ตัวย่อ TPQI เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตาม พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2554 เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพแห่งชาติ จัดทำมาตรฐานอาชีพให้ได้มาตรฐานสากล กำหนดองค์กรเพื่อการรับรองสมรรถนะบุคคล เป็นศูนย์กลางข้อมูลและองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานวิชาชีพ และดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านสังคมและคุณภาพชีวิตด้านนโยบายการศึกษา โดยเร่งรัดจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อรับรองสมรรถนะการปฏิบัติงานตามมาตรฐานอาชีพ และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียนและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน



รู้จักคณะกรรมการทำงานเฉพาะกิจพัฒนามาตรฐานวิชาชีพล่าม (FriendInterperter)




ปกรณ์ - ปกรณ์ กฤษประจันต์

ที่ปรึกษาสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย จบการศึกษาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล ศิลปศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยบูรพา นักแปลและล่ามอิสระ


โอ - อนิรุติ เจริญสุข

เรียนสายวิทยาศาตร์มาตลอด แต่ด้วยความสามารถด้านภาษา จึงได้มาทำงานทั้งด้านการแปล และการเป็น creative copywriter จนถึงการเป็นล่ามมากว่า 10 ปี นอกจากงานด้านภาษาแล้ว ยังเป็น graphic designer ในการสร้างแบรนด์อีกด้วย และด้วยประสบการณ์ในหลายสาขา จึงได้นำความรู้ในด้านต่าง ๆ มาเชื่อมโยงกัน ให้ผสมผสานเข้ากับการทำงานล่าม


อาร์ค - อัครินทร์ สถิตย์พัฒนพันธ์

ล่าม นักแปล และนักพากย์อิสระ (ภาษาอังกฤษ-ไทย)​ เริ่มทำงานล่ามสลับกับสอนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2004 ก่อนจะผันตัวมาเป็นล่ามวิชาชีพในปี 2008 หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาการแปลและการล่าม จากมหาวิทยาลัย Macquarie ประเทศออสเตรเลีย มีประสบการณ์คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงธุรกิจ งานประชุมนานาชาติ และเป็น 'เสียง'​ ให้กับบริษัทชั้นนำของโลกมาแล้วกว่า 10 ปี


ต้น - อภิชาต เพิ่มชวลิต

จบการศึกษา ป โท การแปลฝรั่งเศส-ไทย ศิลปศาสตร์ มธ และ ได้รับทุนรัฐบาลฝรั่งเศสไปศึกษา ป โท การแปลฝรั่งเศส-อังกฤษ ที่สถาบัน ITIRI Strasbourg ฝรั่งเศส ปัจจุบันเป็นล่ามอิสระด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และเป็นอาจารย์สอนวิชาการแปลและเทคนิคล่าม ระดับ ป ตรีและ ป โท มานานกว่า 20 ปี (www.bonjourajarnton.com)


ปู๊น - ทัศนีย์ กีรติรัตน์วัฒนา

นักแปลและล่ามอิสระ (ไทย-อังกฤษ) เจ้าของกิจกรรม Inkdot Translation Studio อาจารย์พิเศษคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของบล็อก "พริตตี้ แคท" จบการศึกษาระดับปริญญาโทจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาขาการแปลและล่าม (ไทย-อังกฤษ) สนใจเรื่องเทคโนโลยีการแปลและปั่นจักรยานเป็นอาชีพเสริม


หน่อย - พรทิพย์ พรมมาฎร์

จบการศึกษาปริญญาตรีด้านภาษาและวรรณคดี ปริญญาโทด้านธุรกิจระหว่างประเทศ และประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านภาวะการเป็นผู้นำ มีประสบการณ์ทำงานด้านการอบรม งานข่าว การแปลและล่ามเกือบยี่สิบปี เคยทำงานให้กับองค์กรระหว่างประเทศ สำนักข่าวและบริษัทที่ปรึกษา เชี่ยวชาญสายงานการบังคับใช้กฎหมาย การส่งออกและนำเข้า สนใจด้านเทคโนโลยี วัฒนธรรมและโบราณคดี การระดมทุนเพื่อกิจกรรมอาสาพัฒนา


ฟ้า - จารุวรี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา

จบป.ตรี ด้านเทคโนโลยีชีวภาพจากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลับ และป.เอกด้านอณูชีววิทยาและเทคโนโลยีชีวภาพ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ปัจจุบันเป็นล่ามอิสระ และเป็นเลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย


อ้อย - อารยา อัมรปาล

จบการศึกษา ป. โท-เอก ด้านการสอนภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัย Stanford ประเทศสหรัฐฯ ทำงานด้านแปลและล่ามและสอนภาษาให้หน่วยงานรัฐและเอกชนมามากกว่า 15 ปี


ควอทซ์ - ทักษะ อรเอก

ทนายความประจำสำนักกฎหมาย สยาม ลีกัล คอนซัลแทนต์ ล่ามแปลภาษาอังกฤษ-ไทยในกระบวนการยุติธรรม ผู้บรรยายวิชากฎหมายและภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายในมหาวิทยาลัย (ตั้งแต่ พ.ศ. 2546) เป็นวิทยากรหลักสูตรภาษา Legal English ของสภาทนายความในพระบรมราชูถัมภ์ และเป็นผู้ก่อตั้งเพจ English for Thai Lawyers (ตั้งแต่ พ.ศ. 2555)


ฝน - สโรชา บุญรัตน์

จบปริญญาตรี/โท จากอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ป.ตรีเอกอังกฤษ/ป.โทด้านแปลและล่าม ทำงานบริษัทต่างๆ มา 14 ปี (เป็นเพื่อนตรวจ report ให้ auditor / เป็นสาวห้าง / เป็นสาวแบงค์ / เป็นเด็กเชียร์เบียร์) ตั้งแต่ปี 2014 ถึงปัจจุบันเป็นผู้แปลและล่ามอิสระ ชำนาญงานด้านธุรกิจ กลยุทธ์ การเงินและงาน HR นอกจากนี้ยังเป็นพนักงานทั่วไป (แอดมินยันซีเอฟโอ) ช่วยที่บ้านทำธุรกิจผลิต/จำหน่ายบรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องกระดาษ และเป็นนักเรียนภาษาจีนอีกด้วย


นุช - สุทินนา รัตนสมโภชกุล

ปริญญาตรีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทการตลาดและโฆษณา มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ปัจจุบันเป็นล่ามและนักแปลอิสระ


 

อ้างอิง

รับชมการประชุมย้อนหลังได้ที่นี่

ดู 592 ครั้ง
bottom of page